วิเคราะห์ผลประกอบการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) สำหรับ Q3-2562

1007

“ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต (Lifetime Health Guardian for All)”

 

คือ เป้าหมายในการทำธุรกิจของ THG  หรือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำธุรกิจการแพทย์และสุขภาพครบวงจรของไทย ปัจจุบันมี Market cap มูลค่าตลาดสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ไม่ธรรมดาเลยครับ

 

ชวนมาดูกันก่อนครับว่าเค้าทำธุรกิจอะไรกันบ้าง? ในภาพใหญ่เค้าทำธุรกิจ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ครับ

 

กลุ่มแรก คือ ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์

 

กลุ่มที่ 2 คือ ธุรกิจการบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์

 

และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ

 

ก่อนที่จะดูผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ชวนมาทำความเข้าใจรายละเอียดของธุรกิจ THG กันก่อนครับ ดูภาพต่อไปเลยครับ

 

 

 

ชวนมาดูรายละเอียดกันครับว่า THG ทำธุรกิจอะไรบ้าง

 

เริ่มต้นจากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ที่เป็นธุรกิจหลักของ THG: โดยแบ่งย่อยออกเป็น 5 กลุ่มครับ

 

1. โรงพยาบาลในประเทศมีทั้งหมด 7 แห่ง (มีเตียงจดทะเบียนทั้งหมด 963 เตียง)

 

ได้แก่ รพ.ธนบุรี, รพ.ธนบุรี 2, รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง, รพ.ราษฏร์ยินดี จ.สงขลา, รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี จ.อุบลราชธานี, รพ.สิริเวช จ.จันทบุรี และ รพ.ธนบุรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

 

2. โรงพยาบาลในต่างประเทศ มีทั้งหมด 2 แห่ง

 

โรงพยาบาล Welly Hospital ใน เมืองเวยไห่ ประเทศจีน (ทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,350 ล้านบาท) ซึ่ง THG ถือหุ้น 58% (ขนาด 150 เตียง)

 

และโรงพยาบาล Ar Yu International Hospital ในเมียนมา (ขนาด 200 เตียง) ซึ่ง THG ถือหุ้น 40% ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว (ทุนจดทะเบียนสูงถึง 2,250 ล้านบาท)

 

3. ธุรกิจศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วย

 

ให้บริการส่งเสริมดูแล และรักษา ฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวม สำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้การดำเนินงาน โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ Jin Wellbeing County ในเครือ THG

 

4. รับจ้างบริหาร

 

 มีหลายแห่งเลยครับทั้งที่ให้บริการกับภาครัฐ ในภูเก็ต พัทยา และศูนย์แพทย์ชุมชนนานาชาติ เกาะล้าน ข้อดีคือมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอแต่ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำกับโรงพยาบาลต่างๆ ครับ และยังมีบริการเป็นที่ปรึกษาให้กับต่างประเทศ

 

5. กลุ่มธุรกิจศูนย์แพทย์เฉพาะทาง

 

เช่นศูนย์หัวใจ รพ.ภัทร-ธนบุรี, ศูนย์หัวใจ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์หัวใจ รพ.พัทลุง

 

============

 

ไม่ใช่แค่นี้ครับ ตอนนี้ THG ขยายธุรกิจไปเยอะมาก

 

Healthcare Solutions Provider ซึ่งเป็นรายได้อีกทางที่กำลังมาแรง ประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน

 

1. ธุรกิจที่พักอาศัยพร้อมบริการทางการแพทย์เพื่อผู้สูงวัย

 

– โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลธนบุรี บูรณา ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ ให้บริการแก่ผู้ป่วย และผู้สูงวัย โดยเฉพาะโรคภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง ที่ต้องการบริการส่งเสริมดูแลรักษาสุขภาพ พักฟื้น และกายภาพบำบัด

 

– โครงการธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ภายใต้แนวคิด“ที่อยู่ใกล้ชิดสุขภาพที่ดี” เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่แข็งแรงแบบครบวงจร

 

– ข้อสังเกตคือ THG เพิ่งจัดตั้งบริษัทย่อย บริษัทธนบุรี พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่จะเข้ามาบริหารจัดการ Senior Residence สะท้อนให้เห็นว่า THG เอาจริงเอาจังกับตลาดนี้มาก

 

2. ธุรกิจรักษาพยาบาลนอกพื้นที่โรงพยาบาล ได้แก่ บริษัทพรีเมียร์โฮมเฮลท์แคร์

 

3. ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือทันตกรรมเป็นแบบ One Stop Service และธุรกิจร้านขายยา Apex

 

============

 

กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ: 

 

ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อการบริหารโรงพยาบาล และธุรกิจพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ

 

สรุปง่าย ๆ ว่า THG เป็นกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพแบบครบวงจร ไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลอย่างที่หลายคนเข้าใจ  

 

 

รายได้ THG มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

 

เป็นอีกไตรมาสที่รายได้ไตรมาสที่ 3 เติบโตกว่า 21% มาอยู่ที่ 2,235 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 4% ในช่วง 5 ปีล่าสุด) หลัก ๆ มาจากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์นั่นแหละครับ

 

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะปกติแล้ว ช่วงไตรมาสนี้จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาลอยู่แล้ว และยังมีรายได้จากโรงพยาบาลแห่งใหม่ทำให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายค่ายคาด

 

แต่ไส้ในมีหลายเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ครับ

 

1. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่เพิ่งเปิดใหม่ช่วงต้นปี 2562 โดยวางจุดยืนเป็นโรงพยาบาลระดับพรีเมียม ระดับ 6 ดาวที่มีศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เน้นไปที่ตลาด medical tourism

 

“หลัก ๆ เติบโตหนักมากจาก ศูนย์รักษาแผลเบาหวาน, ศูนย์ทันตกรรมดิจิตัล, และศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก”

 

จุดที่น่าสนใจคือ เปิดให้บริการเพียงแค่ 8 เดือนก็สามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้แล้ว สะท้อนให้เห็นว่ามาถูกทาง และสามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ

 

2. รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในโครงการ Jin Wellbeing County รังสิต จำนวน 22 ยูนิต รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งรายได้ที่ทำให้ภาพรวมเติบโตดีในไตรมาสนี้

 

ปัจจุบันมีจำนวนห้องที่โอนแล้วทั้งหมด 102 ห้องและยังมีตัวเลข backlog เหลือห้องที่ทำสัญญาแล้วรอการโอนอีก 48 ห้องครับ

 

แต่รายได้จาก Jin Wellbeing County รังสิต จะเป็นรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วงไหนที่ขายและโอนให้กับลูกค้าได้ก็จะมีรายได้เติบโตหนักมาก แต่ช่วงไหนที่โอนได้น้อย ก็อาจจะทำให้ผลประกอบการผันผวนในช่วงเวลานั้นได้ครับ

 

 

กำไรไตรมาสที่ 3 เริ่มฟื้นตัว

 

“กำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 54.1% ครับ” ถือว่าเป็นตัวเลขที่สวยงามมากครับ ซึ่งก็มีหลายเหตุผลที่อธิบายได้ครับ

 

1. หลัก ๆ ก็มาจากการที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่พลิกจากขาดทุนกลายเป็นกำไรได้

 

2. โรงพยาบาล Ar Yu International ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา (ที่ THG ร่วมถือหุ้น 40%) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการ ผลประกอบการของโรงพยาบาลถึงจุดคุ้มทุนในระดับ EBITDA แล้ว แต่ยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ในช่วงแรกของการดำเนินงานนี้

 

ในแง่การดำเนินงาน โรงพยาบาลแห่งนี้มีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็มีผลทำให้เห็นตัวเลขทางบัญชีขาดทุนมากขึ้น ซึ่งถ้าหักออกไปก็ถือว่าโรงพยาบาลนี้มีแนวโน้มเติบโตดีครับ

 

สำหรับไตรมาสที่ 4 นี้ก็อาจจะได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและค่าเสื่อมจากโรงพยาบาลที่เปิดใหม่ นั่นคือ โรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ซึ่งก็จะเป็นต้นทุนในการประกอบการในช่วงแรกได้ครับ

 

แต่ภาพรวมก็จะไม่แย่ครับ เพราะจะได้รับการชดเชยรายได้จากการทยอยโอนห้องโครงการ Jin Wellbeing County ที่จะช่วยทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้ (แต่ต้องหมายเหตุไว้ในใจว่า จะเป็นรายได้ที่เข้ามาก้อนใหญ่เลย ซึ่งในปีถัดไปอาจจะต้องรอลุ้นโครงการใหม่ ๆ ครับ)

 

 

แผนระยะกลาง ระยะยาวยังเป็นไปตามเป้าหมาย

 

ในภาพใหญ่ ๆ THG ยังเปิดเกมรุกเสริมแกร่งธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายครับ

 

1. เพิ่มศักยภาพธุรกิจหลัก: แม้ว่าจะเปิดเกมรุกธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ THG ก็ยังไม่ทิ้งธุรกิจหลัก ยังลงทุนเน้นเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย ทั้งการเตรียมสร้างอาคารแห่งใหม่ของ รพ.ธนบุรี และ รพ.ธนบุรี 2 รวมถึงเพิ่มแพทย์เฉพาะทางเพื่อเพิ่มความสามารถในการรักษาโรค สำหรับ รพ.ธนบุรี 2

 

2. พัฒนาตลาดต่างประเทศ: ตอนนี้โรงพยาบาลในต่างประเทศมีผลประกอบการที่ดีขึ้นครับ มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น “โรงพยาบาล Ar Yu International Hospital ในเมียนมามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดรับผู้ป่วยใน ตั้งแต่เดือน มีนาคม ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ดี มีผู้มาใช้บริการให้ความไว้วางใจมากยิ่งขึ้น” ผู้บริหารให้ความเห็นครับ

 

และแม้ว่าโรงพยาบาล Welly Hospital ในจีนยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ควบคุมต้นทุน ส่งผลให้ขาดทุนลดลงและคาดว่าจะ breakeven ในเชิงตัวเลข EBITDA ได้ภายในปีนี้ครับ

 

3. พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ: ลงทุนเพื่อเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มเติมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ เช่น รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง และรพ.ธนบุรีบูรณา

 

4. กระจายความเสี่ยง พัฒนาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชี่ยวชาญหลัก: เน้นเพิ่มยอดขาย จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เกาะกระแสสังคมผู้สูงอายุ พร้อมโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา เพื่อให้บริการทางการแพทย์ ดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยเฉพาะโรคภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้มีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร ของโครงการ เดอ ซองเต้ ภายใต้การดำเนินงานโดย ธนบุรี เฮลท์วิลเลจ เพื่อเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ

 

 

ข้อสังเกตของ “ถามอีก กับอิก” คือใน ช่วง 1-2 ปีนี้ THG เปิดเกมรุกหนักมากครับ และนั่นทำให้ความฝัน THG ที่ตั้งใจอยากจะรุกธุรกิจการแพทย์และสุขภาพครบวงจร เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

 

แต่ยังคงต้องติดตามกันยาว ๆ เพราะแต่ละโครงการต้องใช้เม็ดเงินการลงทุนหนักพอสมควร ซึ่งอาจจะเจอทั้งเรื่องค่าเสื่อมหรืออาจจะต้องรอเวลาให้ผู้ใช้บริการได้รู้จักและคุ้นเคยก่อนครับ นั่นหมายความว่าบางไตรมาสผลประกอบการอาจจะยังมีความผันผวน ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่บ้าง

 

ในขณะเดียวกัน เงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ยเองก็เพิ่มขึ้น 46% มาอยู่ที่ระดับ 8,600 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ถ้ารายได้ของโครงการไม่ได้เป็นไปตามเป้าก็อาจจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเป็นความเสี่ยงของบริษัทได้เช่นกัน

 

แต่ข้อดีคือ ผู้บริหารพยายามมองหาน่านน้ำใหม่ ๆ บุกธุรกิจใหม่ ๆได้เสมอ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ ทำให้ระยะยาว THG มีโอกาส เป็นกลุ่มที่มีรูปแบบในการทำธุรกิจที่แข็งแรงมาก ๆ ทั้งในด้านกระจายความเสี่ยง และด้านการ synergy เป็นประโยชน์ระหว่างบริษัทย่อยในเครือ

 

=======

 

“ถามอีก กับอิก” มีข้อสังเกตทิ้งท้าย คือ การที่ RAM โรงพยาบาลรามคำแหง ทยอยเก็บหุ้น THG 3 รอบ นับตั้งแต่ มี.ค. 2561 ทำให้ ณ วันที่ 3 กันยายน 2562 ถือหุ้นในสัดส่วน 5.57%

 

“โดยให้เหตุผลว่าเป็นขยายธุรกิจบริการทางการแพทย์และมองว่าเป็นการลงทุน ยังไม่ได้มีผลต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ THG”

 

#เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด #ขอให้ทุกท่านโชคดี #และมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต

TAM-EIG

TAM-EIG

1007

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!