ผลประกอบการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เติบโตมากกว่าคาด ในปี 2562

1156

 

“ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต (Lifetime Health Guardian for All)”

 

คือ เป้าหมายในการทำธุรกิจของ THG หรือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำธุรกิจการแพทย์และสุขภาพครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของไทย

 

ปัจจุบันมี Market cap ถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ไม่ธรรมดาเลยครับ

 

ชวนมาดูกันก่อนว่าเค้าทำธุรกิจอะไรกันบ้าง? ในภาพใหญ่เค้าทำธุรกิจ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ครับ

 

 

กลุ่มแรก คือ ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์

 

กลุ่มที่ 2 คือ ธุรกิจการบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์

 

และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ

 

ก่อนที่จะดูผลประกอบการปี 2562 ชวนมาทำความเข้าใจรายละเอียดของธุรกิจ THG กันก่อนครับ ดูภาพต่อไปเลยครับ

 

 

ชวนมาดูรายละเอียดกันครับว่า THG ทำธุรกิจอะไรบ้าง

 

เริ่มต้นจากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ที่เป็นธุรกิจหลักของ THG: โดยแบ่งย่อยออกเป็น 5 กลุ่มครับ

 

1. โรงพยาบาลในประเทศมีทั้งหมด 8 แห่ง มีเตียงจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1,000 เตียง

 

ได้แก่ รพ.ธนบุรี, รพ.ธนบุรี 2, รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง, รพ.ธนบุรีบูรณา (ตั้งอยู่ในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้), รพ.ราษฏร์ยินดี จ.สงขลา, รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี จ.อุบลราชธานี, รพ.สิริเวช จ.จันทบุรี และ รพ.ธนบุรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

 

2. โรงพยาบาลในต่างประเทศ มีทั้งหมด 2 แห่ง

 

โรงพยาบาล Welly Hospital ในเมืองเวยไห่ ประเทศจีน ทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,350 ล้านบาท ซึ่ง THG ถือหุ้น 58% (ขนาด 150 เตียง)

 

และโรงพยาบาล Ar Yu International Hospital ในเมียนมา (ขนาด 200 เตียง) ซึ่ง THG ถือหุ้น 40% ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว ทุนจดทะเบียนสูงถึง 2,250 ล้านบาท

 

3. ธุรกิจศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วย ให้บริการส่งเสริมดูแล และรักษาฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงวัยโดยเฉพาะโรคภาวะสมอง

 

เสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้การดำเนินงานของโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ Jin Wellbeing County ในเครือ THG

 

4. รับจ้างบริหารมีหลายแห่งเลยครับทั้งที่ให้บริการกับภาครัฐ ในภูเก็ต พัทยา และศูนย์แพทย์ชุมชนนานาชาติ เกาะล้าน ข้อดีคือมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ครับ และยังมีบริการเป็นที่ปรึกษาให้กับต่างประเทศด้วย

 

5. กลุ่มธุรกิจศูนย์แพทย์เฉพาะทางเช่นศูนย์หัวใจ รพ.ภัทร-ธนบุรี, ศูนย์หัวใจ รพ.ธนบุรี 2, ศูนย์หัวใจ รพ.พัทลุง

 

============

 

 

ไม่ใช่แค่นี้ครับ ตอนนี้ THG ขยายธุรกิจไปเยอะมาก

 

Healthcare Solutions Provider ซึ่งเป็นรายได้อีกทางที่กำลังมาแรง ประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน

 

1. ธุรกิจที่พักอาศัยพร้อมบริการทางการแพทย์เพื่อผู้สูงวัย

 

– โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลธนบุรี บูรณา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ และ จิณณ์ เวลเนส ที่เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่จะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

 

– โครงการธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ภายใต้แนวคิด

 

“ที่อยู่ใกล้ชิดสุขภาพที่ดี” เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่แข็งแรงแบบครบวงจร

 

– ข้อสังเกตคือ THG เพิ่งจัดตั้งบริษัทย่อย บริษัทธนบุรี พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่จะเข้ามาบริหารจัดการ Senior Residence สะท้อนให้เห็นว่า THG เอาจริงเอาจังกับตลาดนี้มาก

 

2. ธุรกิจรักษาพยาบาลนอกพื้นที่โรงพยาบาล ได้แก่ บริการพรีเมียร์โฮมเฮลท์แคร์ ให้การรักษาพยาบาลถึงที่พักอาศัย

 

3. ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือทันตกรรมเป็นแบบ One Stop Service 

 

============

 

กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ: 

 

ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อการบริหารโรงพยาบาล และธุรกิจพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ

 

สรุปง่าย ๆ ว่า THG เป็นกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพแบบครบวงจร ไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลอย่างที่หลายคนเข้าใจ  

 

 

“รายได้ปี 2562 เติบโต 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าครับ” หลัก ๆ แล้วมาจากสองส่วน คือ ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ที่เติบโต 13.4% และ ธุรกิจบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ที่เติบโตหนักมาก 53.7%

 

มาดูส่วนแรกกันก่อนครับ “ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์”

 

ถ้าดูไส้ในจะเห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศเติบโตโดดเด่นมากถึง 16.3% แต่ก็มีบางส่วนที่มีรายได้ลดลงครับ เช่น ธุรกิจรับเหมาบริหารโรงพยาบาล (รายได้จากค่าที่ปรึกษากับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศสิ้นสุดสัญญา) และธุรกิจศูนย์แพทย์เฉพาะทางอันนี้ก็ลดลงเล็กน้อย (ผู้ป่วยลดลง)

 

แต่ก็ได้รับการชดเชยจาก ส่วนที่ 2 คือ ธุรกิจบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ ครับ

 

หลัก ๆ แล้วมาจากการรับรู้รายได้จากการขายห้องพักอาศัยของโครงการ Jin Wellbeing County ที่มีลูกค้าโอนห้องจำนวน 88 ห้อง ทำให้ THG รับรู้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด (รับรู้รายได้เมื่อมีการโอน เพราะฉะนั้นจะมีรายได้ก้อนโตรับรู้เข้ามาทันทีครับ)

 

 

แม้ว่า THG เป็นกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพแบบครบวงจร แต่รายได้ที่เป็นพระเอกและเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอคือ ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศครับ

 

“ถามอีก กับอิก” เลยชวนมาดูเหตุผลว่า ทำไมถึงเติบโตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ  

 

1. อย่างแรกคือการเปิดให้บริการโรงพยาบาลแห่งใหม่ครับ

 

“โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง” มาแรงแซงทางโค้งมาก ๆ ครับ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นโรงพยาบาลระดับพรีเมียม ระดับ 6 ดาว เป็นตลาดที่แข่งขันไม่รุนแรง

 

แม้ว่าจะเพิ่งเปิดให้บริการปลายเดือน ม.ค. ปีที่แล้ว แต่ผลงานก็ใช้ได้เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รักษาเบาหวาน, ศูนย์ตรวจสุขภาพ, ศูนย์ทันตกรรม

 

“คนไข้ให้การตอบรับดี มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก จนเริ่มมีกำไรได้เร็วกว่าเป้าหมาย” คุณหมอธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ THG

 

นี่แหละครับคือเหตุผลที่ทำให้ THG ทยอยเปิดศูนย์เฉพาะทางตามมามากมายครับ เช่น ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (กำลังเป็นเทรนด์มาแรงเลยครับ), ศูนย์กระดูกและข้อ, ศูนย์ผิวหนังและความงาม และ จิณณ์ เวลเนส (ถ้าติดตลาดเร็วก็มีโอกาสที่จะทำอัตรากำไรได้ดีมากขึ้นในอนาคต)

 

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้บริการโรงพยาบาลอีกหนึ่งแห่งในเดือน พ.ย. ปีที่แล้วครับคือ “โรงพยาบาลธนบุรีทุ่งสง” โดยในเบื้องต้น ได้เปิดให้บริการรักษาทั่วไป, คลินิกกระดูกและข้อ, คลินิกสูตินรีเวช และคลินิกเด็ก ทำให้มีส่วนช่วยให้รายได้ของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ

 

แต่ช่วงแรกจะเจอค่าเสื่อม, ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่ายา เป็นต้น ทำให้ต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะพลิกกลับมามีกำไรได้

 

2. โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการอยู่แล้วมีคนไข้มากขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลธนบุรี และธนบุรี 2 ที่ตอนนี้เก่งเรื่องการรักษาโรคซับซ้อน และมีศูนย์ตรวจรักษาแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ทำให้มีคนไข้เพิ่มขึ้นครับ

 

 

ถ้ามองในภาพใหญ่จะเห็นว่ากำไรของ THG เติบโตมากถึง 32.8% มาอยู่ที่ระดับ 462 ล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (NPM) เพิ่มขึ้นจาก 4.9% มาเป็น 5.6%

 

“ถามอีก กับอิก” มีข้อสังเกตดังนี้ครับ

 

1. “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกำไรพิเศษครับ” เป็นกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนใน บมจ.โรงพยาบาลราชธานี ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว

 

แต่ถ้าหักตัวเลขกำไรสุทธินี้ออกไป ก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วกำไรสุทธิก็ยังเติบโตได้ประมาณ 10% ครับ ถือว่าใช้ได้เลยครับสำหรับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันรุนแรงแบบนี้

 

2. ตามธรรมชาติถ้าหากรายได้จากโรงพยาบาลใหม่เริ่มเพิ่มขึ้นตามจำนวนของลูกค้า และเพิ่มมากกว่าค่าเสื่อม ก็จะยิ่งทำให้กำไรสุทธิในอนาคตมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นอีกครับ

 

3. THG ได้ตั้งสำรองผลประโยชน์ของพนักงาน (ที่จะต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป โดยจะให้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือนสุดท้าย 400 วัน) มูลค่า 76 ล้านบาท ทำให้อนาคตงบการเงินจะไม่ถูกกดดันจากปัจจัยนี้ครับ

 

4. การที่ THG ขยายโรงพยาบาลมากขึ้น ด้านหนึ่งคือการขยายเครือข่ายและการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงมากขึ้น แต่ประโยชน์อีกข้อคือ Economy of scale ต้นทุนการซื้ออุปกรณ์หรือการบริหารจัดการก็คงจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้อัตรากำไรมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

 

 

ถ้ามองเฉพาะไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A ของ THG ครับ

 

“ไตรมาสที่ 4 มีตัวเลข SG&A อยู่ที่ 300 ล้านบาท ลดลง 25%” และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมก็ลดลงครับ

 

เหตุผลเพราะค่าใช้จ่ายการตลาดลดลง และมีการย้ายค่าใช้จ่ายบางรายการเช่น ค่าตัดจำหน่ายสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง (ย้ายจาก SG&A เป็นต้นทุน)

 

ในขณะที่ถ้าดูเป็นรายปีจะเห็นว่า SG&A ของ THG เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.3% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่

 

“แต่ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนของยอดขายก็จะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลงเช่นกันครับ” “ลดลงจาก 19% ในปี 2561 เหลือเพียง 16% ในปี 2562” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ THG ควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพได้ดีมากขึ้น

 

ในขณะที่ THG มีรายได้เติบโตสูงขึ้น ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีมากครับ ทำให้สัดส่วน SG&A เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จึงน้อยลงมากครับ

 

“เมียนมา” และ “จีน” คือ สองประเทศที่ THG เปิดตลาดร่วมกับพันธมิตรมาสักระยะแล้วครับ

 

เป็นเรื่องปกติมากที่ช่วงแรกของการลงทุนอาจจะขาดทุนบ้าง เพราะมีทั้งค่าบุคลากร ค่ายา ค่าเครื่องมือ ค่าทำการตลาด แต่ในภาพรวมจุดที่น่าสนใจคือ ตัวเลขรับรู้ขาดทุนลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกันครับ

 

สำหรับจีน “โรงพยาบาล Welly” ขาดทุนลดลงแล้วครับ ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังแนะนำให้ติดตามอนาคตด้วย เพราะโรงพยาบาลในจีนอาจจะได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้อาจจะรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรายได้รวมทั้งบริษัทฯ

 

ส่วนที่เมียนมาถือว่าไปได้สวยเลยครับ เพราะ โรงพยาบาล Ar Yu International เริ่มได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้น ตัวเลขขาดทุนลดลง ซึ่งผู้บริหารคาดการณ์ว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ในแง่ของตัวเลข EBITDA เร็ว ๆ นี้

 

ความเห็นของถามอีก กับอิก

 

1. การเปิดเกมรุกธุรกิจอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มออกดอกออกผลให้เห็นบ้างแล้วครับ เช่น โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่เปิดและได้รับกระแสตอบรับที่ดี

 

2. แต่ “ถามอีก กับอิก” ก็ยังมีความเห็นว่าการลงทุนใน THG เหมาะสำหรับคนที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ครับ เพราะยังอยู่ในช่วงของการขยายงานทำให้อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเติมทำให้อาจจะเป็นปัจจัยกดดันอัตราทำกำไรระยะสั้นได้

 

3. แต่ผลจากการที่ THG มีเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นและครบวงจรมากขึ้น จะเป็นประโยชน์หลายด้านมากครับ ทั้งในมุมของการสร้างแบรนด์ให้

 

มีความแข็งแรง การประหยัดต้นทุน Economy of scale และการเพิ่มฐานรายได้ของทั้งบริษัทฯ ให้เพิ่มขึ้น

 

4. และเท่าที่สังเกตดู กลยุทธ์ที่ THG เริ่มหันมาจับตลาดเฉพาะทางมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มอัตราทำกำไรให้มากขึ้นในอนาคต

 

5.“ถามอีก กับอิก” ชอบไอเดียของความกล้าในการบุกตะลุยธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบุกตลาดต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย

 

แม้ว่าบางธุรกิจอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการคืนทุน แต่อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เห็นว่าผู้บริหารกล้าที่จะลองหาโอกาสในการทำธุรกิจ และเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคการแข่งขันดุเดือด นี่เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จระยะยาวครับ

 

#เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด และขอให้ทุกท่านโชคดี และมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต

TAM-EIG

TAM-EIG

1156

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!