จีนจะให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางการเงินแทนฮ่องกง?

761

เมื่อ สีจิ้น ผิง มีแนวคิดผลักดันให้ “มาเก๊า” เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่แทนฮ่องกง

 

#ถันอี้ #谈亿 #ถามอีกกับอิกเรื่องลงทุนจีน

 

เคยได้ยินไหมครับว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

 

=======

 

สัปดาห์หน้าวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เป็นวันที่สำคัญของ “มาเก๊า” ครับ เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีพอดิบพอดีที่กลับสู่ภายใต้การปกครองของจีน หลังจากที่โปรตุเกสปกครองก่อนหน้านั้นครับ (ส่งมอบคืนจีนในปี 2542)

 

มาเก๊า อยู่ภายใต้ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบของจีน”ครับ ในฐานะเขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีระบบการค้าและระบบการเงินที่เสรีคล้าย ๆ กับฮ่องกงครับ

 

=======

 

ทำไมปีนี้ถึงสำคัญมาก ๆ สำหรับมาเก๊า?

 

เพราะเป็นปีที่ผู้นำจีนจะเดินทางไปด้วยตัวเอง และแหล่งข่าวจาก Reuters แจ้งว่า คุณสี จิ้น ผิง กำลังจะประกาศนโยบายสำคัญ คือให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงินใหม่

 

ตอนนี้เป็นที่ฮือฮาในตลาดการเงินโลกอย่างมากตลอดทั้งวันนี้ครับ

 

=======

 

ทำไมจีนถึงอยากให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงินแทนฮ่องกง?

 

1. ยังไม่มีใครรู้ว่าเหตุประท้วงในฮ่องกงจะจบลงเมื่อไหร่ และจะจบยังไงส่งผลทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงดำดิ่งล่าสุดลดลง 3.2% ในไตรมาสที่ 3

 

2. แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ “ความเชื่อมั่น” ครับ เพราะมีเสียงสะท้อนจากเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกรวมถึงสถาบันการเงินระดับโลกมากมาย บอกว่าถ้าเหตุการณ์ประท้วงยังไม่จบ อาจจะย้ายสำนักงานและเงินทุนไปสิงคโปร์ (สะท้อนให้เห็นว่าเริ่มขาดความเชื่อมั่นแล้ว)

 

3. รัฐบาลสิงคโปร์เองก็ไม่รอช้าครับ เรียกให้ธนาคารยักษ์ใหญ่เข้ามาคุยแม้ว่าจะคุยยังไม่จบแต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ครับว่าสิงคโปร์คงจะจัดสิทธิประโยชน์แบบจัดหนัก จัดเต็มแน่ๆครับ

 

4. นี่เลยเป็นเหตุผลว่าจีนต้องทำอะไรบางอย่างก่อนที่จะสายไปครับ เพราะฉะนั้นเหตุผลที่จะผลักดันให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงจากฮ่องกงนั่นเองครับ

 

=======

 

มาเก๊ามีดีอะไร?

 

มีดีมากกว่าการเป็นคาสิโนและขนมทาร์ตไข่ แน่ ๆ ครับ

 

1. แม้ว่าตัวเลข GDP ปี 2560 ของมาเก๊ามีเพียง 5 หมื่นล้านเหรียญหรือ กว่า 1.5 ล้านล้านบาท เล็กกว่าประเทศไทยเกือบ 10 เท่า (แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมาเก๊าสุดโหดครับ โต 3 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาครับ)

 

2. และตัวเลขที่น่าสนใจคือ GDP ต่อประชากรครับ เฉลี่ยสูงถึง 8.2 หมื่นเหรียญสูงเป็นอันดับที่สามของโลกรองจากลักเซมเบิร์กและสวิตเซอร์แลนด์

 

3. ตัวเลขที่น่าตื่นเต้นกว่าคือ GDP ต่อประชากรของมาเก๊ามากกว่าจีนถึง 11 เท่า, มากกว่าฮ่องกงเกือบเท่าตัวและมากกว่าไทย 12 เท่า

 

4. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าปีหน้ามาเก๊าจะมีรายได้ต่อหัวมากที่สุดในโลก!

 

เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ

 

5. หลัก ๆ รายได้ของประเทศส่วนใหญ่ สัดส่วน 80% มาจากคาสิโน และแหล่งบันเทิง (เป็นความเสี่ยงของประเทศในแง่ที่ฝากความหวังไว้กับแหล่งบันเทิงมากเกินไป)

 

=======

 

ทำไม “ถามอีก” เชื่อว่ามาเก๊าจะทำสำเร็จ?

 

ปกติตามธรรมชาติของจีน ก่อนที่จะประกาศอะไรเค้าจะคิดรอบคอบและลงมือทำโดยทันทีครับ มาวิเคราะห์ขั้นตอนของเค้ากันครับ

 

1. แผนระยะสั้นของจีนคือ จะสนับสนุนให้มีการระดมทุนและซื้อขายพันธบัตรก่อน จุดประสงค์คือจะผลักดันให้บริษัทมาเก๊า และจีนออกหุ้นกู้ เพื่อศึกษาและเรียนรู้การทำธุรกิจร่วมกัน

 

2. มีโอกาสที่จะทับซ้อนกับฮ่องกงไหม? ไม่จำเป็นครับ เพราะเป้าหมายหลัก ๆ ของการระดมทุนครั้งนี้คือตลาด startup และ บริษัทเอกชนที่พูดภาษาโปรตุเกสเป็นหลักครับ (มาเก๊า เคยถูกปกครองโดยโปรตุเกส) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับฮ่องกง

 

3. ลำดับต่อไปจีนจะตั้งตลาดหลักทรัพย์ในมาเก๊า โดยใช้เงินหยวนในการซื้อขาย (ความต้องการเงินหยวนจะมากขึ้น และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น)

 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ บอกว่าทีมผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งตลาดฯเซี่ยงไฮ้ เดินทางไปไต้หวัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้แล้ว

 

4. ระยะกลาง จีนจะให้มาเก๊าเข้าเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) พร้อมกับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบจัดหนักจัดเต็ม เพื่อให้การเดินทางสะดวกทันสมัย

 

5. ส่วนระยะยาวจะผลักดันให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการประชุมในระดับนานาชาติเหมือนกับที่สิงคโปร์ทำได้แล้ว

 

=======

 

ทำไมถึงมองว่า… มาเก๊าจะไม่ซ้ำรอยเหมือนฮ่องกง

 

เรื่องนี้มีหลายเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ครับ

 

1. ในอดีตตอนที่ โปรตุเกสปกครองมาเก๊า เริ่มมีกระแสไม่พอใจหลายอย่างหนักถึงขั้นปะทะกันก็มี ทำให้หลายเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิต

 

ทำให้คนมาเก๊าบางคนเริ่มประท้วงบางคนไม่ทำงานไม่ค้าขายกับชาวโปรตุเกส

 

2. นั่นเลยเป็นผลที่โปรตุเกสเองก็อยากคืนมาเก๊า ให้จีนก่อนกำหนดด้วยซ้ำ (ตามประวัติศาสตร์จีนเองก็เริ่มเข้ามา แอบบริหารจัดการมาเก๊าประมาณ 15-20 ปีก่อนที่จะส่งมอบอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่มีปัญหาอะไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน)

 

3. แต่ถ้ามองกันลึกๆจริง ๆ แล้ว ตัวที่ทำให้โอกาสที่จะเกิดปัญหาแบบฮ่องกงน้อย เป็นเพราะมาเก๊าไม่มีปัญหาปากท้องของประชาชนครับ

 

เพราะนโยบายนึงที่เห็นคือ รัฐบาลแบ่งรายได้จากคาสิโน (ได้จากนักท่เองเที่ยว) และแหล่งบันเทิงให้ประชาชนมากถึงเดือนละเกือบ 4 หมื่นบาท แบบให้เปล่า

 

“รายได้ของมาเก๊า ที่ได้รับจากคาสิโน ปีล่าสุด 2018 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท” เป็นภาษีที่เก็บเข้ารัฐบาลสูงถึง 4 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นจ่ายได้สบาย ๆ

 

และยังสนับสนุนการเรียนแบบสุด ๆ ให้มีการศึกษาสูง ๆ และไม่ต้องเก็บภาษีเยอะ

 

พอประชาชนแฮปปี้ไม่มีปัญหาปากท้อง ก็เลยไม่ค่อยกังวลมากนัก (อสังหาฯก็ไม่ได้แพงหูฉี่เหมือนในฮ่องกง) ทำให้ไม่มีปัญหาอย่างที่เราเห็นในฮ่องกง

 

=======

 

“ถามอีก” ตกผลึกอะไรจากเรื่องนี้?

 

มองผิวเผินอาจจะคิดว่าการขยับตัวรอบนี้ของพญามังกรช้าไปหรือป่าวกับปัญหาในฮ่องกง

 

แต่ถ้ามองให้ลึกๆจะเห็นว่า รอบนี้จีนเดินเกมได้ดีครับ ไม่เข้าไปทำอะไรผลีผลามในฮ่องกงเพราะจะถูกเป็นเป้าของมหาอำนาจได้

 

เคยได้ยินไหมครับว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

 

แต่รอบนี้จีนยังไม่ทันยิงปืนเลยครับ ก็ได้นกทั้งสองตัวเลยครับ

 

คือ 1. มาเก๊า ไม่ได้ทำตัวมีปัญหาอะไรก็จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

 

แต่นกตัวที่ 2 คือ ถ้าฮ่องกงยังมีปัญหาไปเรื่อย ๆ ทางจีนเองก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเท่ากับในอดีต เพราะตอนนี้มีทางออกในการกระจายความเสี่ยงไปที่อื่นแล้ว

 

======

 

จะเห็นว่า ฮ่องกงมีปัญหา… สิงคโปร์ก็แอบเดินเกมรุกแบบเงียบ ๆ

 

จะเห็นว่า ฮ่องกงมีปัญหา… จีนก็เดินเกมกระจายความเสี่ยง และส่งสัญญานให้เห็นแบบชัด ๆ

 

คำถามคือ แล้วเราละครับทำอะไรกันอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์แบบนี้ครับ?

 

พร้อมตั้งรับความเสี่ยง และคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นหรือไม่ครับ?

 

======

 

#เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด ขอให้ทุกท่านโชคดีและมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต

 

#ถันอี้ #谈亿 #ถามอีกกับอิกเรื่องลงทุนจีน

TAM-EIG

TAM-EIG

761

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!