TLI บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทย เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ⁣

420
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น เอกสารฉบับนี้ไม่ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นใดที่การเผยแพร่เอกสารเผยแพร่ข้อมูลเป็นการทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักทรัพย์ของบริษัทที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ไม่ได้รับการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาเว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนหลักทรัพย์ดังกล่าวภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

TLI บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทย เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ⁣⁣⁣

⁣⁣#หุ้นTLI #หุ้นไทยประกันชีวิต ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ภาพยนตร์โฆษณาที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วม ชนิดที่ใครได้ดูก็ซาบซึ้งน้ำตาซึมหลายต่อหลายชิ้น ได้กลายเป็นภาพจดจำของ “บมจ.ไทยประกันชีวิต” หรือ “ไทยประกันชีวิต” บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทย ⁣⁣⁣
เป็นสูตรสำเร็จในการสร้างแบรนด์ และทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของประกันชีวิตเพื่อคนที่เรารัก ทั้งตัวเราเองหรือคนในครอบครัว และทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงประกันชีวิตที่ช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
จนในวันนี้ถ้าพูดถึงบริษัทประกันชีวิต เพื่อน ๆ นักลงทุนหลายคนคงคิดถึง “ไทยประกันชีวิต” เป็นอันดับแรก ๆ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ปัจจุบัน ไทยประกันชีวิต ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจประกันชีวิตของไทย มีจำนวนกรมธรรม์มากกว่า 4,400,000 กรมธรรม์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
อีกทั้งยังมีตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 64,000 ราย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 พร้อมส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2564 ประมาณ 15% ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงติดหนึ่งในสามอันดับแรกของบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในประเทศไทย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ล่าสุด ไทยประกันชีวิตเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยจะใช้ตัวย่อว่า TLI ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
กว่าธุรกิจจะเติบโตมาขนาดนี้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการปรับกลยุทธ์มานับครั้งไม่ถ้วน วันนี้ #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้ ชวนเพื่อน ๆ นักลงทุนมาวิเคราะห์หาโอกาสลงทุนกันครับ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

จากวันนั้นถึงวันนี้⁣⁣⁣

⁣⁣⁣ปี พ.ศ. 2485 ย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ไทยประกันชีวิตได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ จนถึงยุคบุกเบิกเปลี่ยนมือมาสู่คุณวานิช ไชยวรรณ ในปีพ.ศ. 2513 ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประกันชีวิตยังไม่ได้รับความนิยมในไทย และมีคนไทยบางกลุ่มที่มีความมั่งคั่งเท่านั้นที่สนใจซื้อประกันชีวิตและมักซื้อกับบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ นั่นจึงเป็นความมุ่งมั่นของไทยประกันชีวิตที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย และยังคงยึดมั่นในการดูแลคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน⁣⁣⁣

————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

จากกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สู่ “Life Solutions Provider”⁣⁣⁣

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรกไทยประกันชีวิตใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ขยายตลาดในต่างจังหวัดด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบชำระเบี้ยประกันภัยแบบรายเดือนในอัตราที่สามารถจับต้องได้ พร้อมสร้างอาชีพให้กับคนไทยผ่านการเป็นตัวแทนประกันชีวิต ทำให้หลายต่อหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ในยุคถัดมาที่เรียกว่ายุคสร้างสรรค์ ไทยประกันชีวิตมุ่งสร้างแบรนด์ให้ได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย พร้อม ๆ กับนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจรและหลากหลายมากขึ้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “Life Solutions Provider” เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับองค์กร⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
จะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ไทยประกันชีวิต ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ให้ความสำคัญกับทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และคนในสังคม⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ตามแนวคิดการพัฒนาคนไทยประกันชีวิตให้เป็น “คู่คิด เพื่อทุกชีวิต รู้รอบ รอบรู้ คนดี มุ่งมั่นทำดี และ มองไกลและทุ่มเท” และนั่นคือหัวใจสู่ความสำเร็จครับ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผลประกอบการของไทยประกันชีวิตจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 ครับ ⁣⁣⁣

————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

รายได้เติบโตต่อเนื่อง⁣⁣⁣

⁣⁣ปี 2562 รายได้รวม 108,389 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,777 ล้านบาท⁣⁣⁣
ปี 2563 รายได้รวม 107,642 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,692 ล้านบาท⁣⁣⁣
ปี 2564 รายได้รวม 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ไตรมาสแรก ปี 2564 รายได้รวม 25,198 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,308 ล้านบาท⁣⁣⁣
ไตรมาสแรก ปี 2565 รายได้รวม 25,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท (กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
โดยรายได้จากธุรกิจประกันภัยอยู่ในรูปแบบของเบี้ยประกันภัย (สัดส่วน 82%) และรายได้จากการลงทุนของบริษัทฯ อยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ยและเงินปันผล กำไรจากเงินลงทุน และรายได้อื่น (สัดส่วน 18%)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ทีม #TAMEIG วิเคราะห์ข้อมูลแล้วมองว่า ไทยประกันชีวิตมีจุดเด่นหลายอย่างที่ทำให้เป็นหุ้น IPO ที่มองข้ามไม่ได้ครับ⁣⁣⁣

————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

⁣⁣⁣⁣⁣จุดเด่นของว่าที่หุ้นน้องใหม่ TLI ⁣⁣⁣

⁣⁣⁣
1.อุตสาหกรรมประกันชีวิตในไทยยังเติบโตได้อีกมาก:⁣⁣⁣
สังเกตได้จาก Penetration Rate หรืออัตราการเข้าถึงประกันชีวิตเทียบกับ GDP อยู่ที่ 3.8% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิคที่ 3.6% และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ 10.2% , มาเลเซีย 4.2% (อ้างอิงข้อมูลจาก ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) และหน่วยงานการประกันภัยในแต่ละประเทศ)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
สอดคล้องกับรายงานด้านอุตสาหกรรมที่จัดทำโดย Milliman Limited ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยอิสระที่มองว่า ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2553 – 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 7.3% โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน และมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
และยังไม่นับด้วยว่าหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 และการที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนมีแนวโน้มทำประกันชีวิตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
2. มีจุดแข็งด้านเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิต และบริษัทฯ ทำธุรกิจมานานกว่า 80 ปี⁣⁣⁣
ด้วยเหตุที่ ไทยประกันชีวิตมีการวางรากฐานนานกว่า 80 ปี และประสบความสำเร็จในปั้นแบรนด์ “ไทยประกันชีวิต” อีกทั้งสร้างตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 64,000 ราย (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
เช่น สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยาว มีประสิทธิภาพในการขายผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน และสามารถอธิบายลูกค้าให้เข้าใจได้ดี ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเพิ่มอัตราทำกำไรได้ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
และการที่คู่แข่งจะสร้างเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิตให้ได้แข็งแรงขนาดนี้ต้องใช้เวลานาน และยังไม่นับระยะเวลาที่ตัวแทนประกันชีวิตต้องสอบใบอนุญาตจึงจะสามารถขายได้ ทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แต่ข้อสังเกตคือทาง ไทยประกันชีวิตไม่ได้ประมาทครับ ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายอื่นด้วย เช่น การขายผ่านธนาคาร ที่มีการทำสัญญาแบบ Exclusive กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) อีกทั้งยังมีสัญญาแบบ Non-Exclusive กับธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารไทยเครดิต (TCRB) นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังเป็นพันธมิตรกับธนาคารและองค์กรของรัฐ อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และไปรษณีย์ไทย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
และยังมีบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ เช่น บจ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย), บจ. ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส, บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC), และ บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEON) เป็นต้น รวมถึงช่องทางการขายอื่นๆ อย่างเช่น การขายผ่านทางโทรศัพท์ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในอนาคต⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
3.มีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง⁣⁣⁣
โดยถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นว่าเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) ใน 2564 อยู่ที่ 11,367 ล้านบาทแบ่งเป็น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
1) ประกันชีวิตแบบสามัญ คิดเป็นสัดส่วน 69.5% ⁣⁣⁣
2) ประกันชีวิตควบการลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 7.3% ⁣⁣⁣
3) สัญญาเพิ่มเติม คิดเป็นสัดส่วน 13.6%⁣⁣⁣
4) ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 9.6%⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ข้อสังเกตคือ ทางผู้บริหารปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะเน้นยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทำกำไรต่ำ ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการปรับราคาทำให้มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
และการที่ผลิตภัณฑ์หลากหลายก็มีส่วนช่วยให้บริษัทฯ สามารถสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับกลุ่มลูกค้าสถาบันและองค์กรสำหรับการขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม ทำให้เพิ่มยอดขายในระยะยาวได้⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
4.พอร์ตเงินลงทุน มีโอกาสได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ⁣⁣⁣
อย่างที่เพื่อน ๆ นักลงทุนทราบครับว่า ตอนนี้ธนาคารกลางหลายแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
และเมื่อไปดูพอร์ตเงินลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2565 จะเห็นว่า ไทยประกันชีวิตมีเงินลงทุนประมาณ 517,924 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นพอร์ตตราสารหนี้ เงินให้กู้ยืม เงินฝากประจำ และเงินสดประมาณ 87.2% เงินลงทุนในตราสารทุน 12.8% ของพอร์ตรวมทั้งหมด)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ดังนั้น ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ก็จะมีผลทำให้พอร์ตเงินลงทุนของไทยประกันชีวิต โดยเฉพาะในตราสารหนี้ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น รายได้ของไทยประกันชีวิตก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
5.ขยายกิจการในตลาดต่างประเทศ⁣⁣⁣
ไทยประกันชีวิตเริ่มเข้าสู่ตลาดประกันภัยในประเทศเมียนมา ผ่านการเข้าซื้อหุ้น 35% ของ CB life Insurance Company Limited ในปี 2562 และกำลังศึกษาการขยายธุรกิจไปยัง สปป. ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสำหรับธุรกิจประกันชีวิตได้อีกมาก เป็นต้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
6.ผู้บริหารมีประสบการณ์ และมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง⁣⁣⁣
ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ เพราะผู้บริหารมีประสบการณ์ในแวดวงการเงินและประกันชีวิตมาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของทั้งอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภค ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังมีผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์คือ Meiji Yasuda Life Insurance Company หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในญี่ปุ่น ถือหุ้นในไทยประกันชีวิตในสัดส่วน 15% ของทุนที่ออกและชำระแล้ว ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ซึ่งจะนำประสบการณ์มาช่วยต่อยอดในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกิจแบบ Digitalization สนับสนุนแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสร้างโอกาสการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ เชื่อมความสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นในไทยได้⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
7.ปรับกลยุทธ์สู่ยุคดิจิทัล⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
TLI เปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล MDA Plus Application ซึ่งเป็นกลุ่มแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ตัวแทนประกันชีวิตทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ และ ไทยประกันชีวิตแอปพลิเคชัน ให้ลูกค้าทำธุรกรรม บริหารจัดการกรมธรรม์ได้สะดวกมากขึ้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
นอกจากนี้ ยังมีแบบประกันที่ออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้เหมาะสมแต่ละบุคคล เท่ากับว่าเป็นการ Disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนครับ⁣⁣⁣
จุดที่น่าสนใจคือ แม้ว่าไทยประกันชีวิตจะเติบโตมากมาขนาดนี้ แต่ยังไม่หยุดนิ่งครับ ผู้บริหารยังมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
โดยเตรียม Roadmap ไว้ 2 ช่วง โดยในช่วงแรกมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่มั่นคง ด้วยการทำ Digital Transformation ส่วนช่วงที่สอง คือ การก้าวสู่อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน รับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ⁣⁣⁣

————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

⁣⁣⁣ไทยประกันชีวิตกำลังจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ⁣⁣⁣

⁣⁣นั่นเลยเป็นที่มาของการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยจะนำเงินทุนไปต่อยอด 3 ด้านด้วยกันครับ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
1.ลงทุนด้าน Digital Transformation และการทำการตลาดผ่านนวัตกรรมและโซลูชัน ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานแบบครบวงจร จาก Big Data ที่อ้างอิงฐานลูกค้ากว่า 4,400,000 กรมธรรม์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะบุคคล ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
พร้อมเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการและดูแลลูกค้าได้อย่างครบวงจร ในทุกช่วงของชีวิต ทุกจังหวะชีวิต และทุกการใช้ชีวิต⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
2.เสริมความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
3.สร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ⁣⁣⁣
โดยมีวิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน”⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แม้จะเป็นว่าที่หุ้นน้องใหม่ที่น่าสนใจ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเช่น ความเสี่ยงจากการออกแบบผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาผิดพลาด, ความเสี่ยงจากการลงทุน, ความเสี่ยงจากการแข่งขัน เป็นต้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แต่ทางผู้บริหารมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว อย่าลืมศึกษาหนังสือชี้ชวนก่อนการลงทุนด้วยนะครับ⁣⁣⁣

————⁣⁣⁣⁣⁣⁣

ต้องบอกว่าการเสนอขายหุ้น TLI ไทยประกันชีวิตในครั้งนี้ ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน⁣⁣⁣
สำหรับผู้ที่สนใจในหุ้น TLI สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ investor.thailife.com และรอพบกับหุ้น TLI ในวัน 1st Trading Day เร็ว ๆ นี้ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
นี่คือทั้งหมดของข้อมูลที่ชวนมาวิเคราะห์หาโอกาสการลงทุนวันนี้ #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้⁣⁣⁣

TAM-EIG

TAM-EIG

420

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!