tam-eig.com

ถ้ายุโรปไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ทั่วโลกจะกระทบอย่างไร?

อย่าลืม Subcribe จะได้ไม่พลาด

Facebook | Youtube | Line | Website

ถ้ายุโรปไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ทั่วโลกจะกระทบอย่างไร?

ปัญหาความวุ่นวายไม่ลงรอยกันของหลายประเทศทั้งจีน สหรัฐฯ รัสเซีย หรือยูเครน ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่หนึ่งเรื่องที่ตอนนี้เริ่มมีความกังวลคือเรื่องของ “น้ำมัน”

นอกจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว รัสเซียถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเบอร์อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งยุโรปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในสัดส่วนประมาณ 3.4-3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ณ​ วันที่ 2 มิ.ย.65) บางส่วนเป็นน้ำมันดิบ และบางส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่กลั่นแล้ว เช่น น้ำมันดีเซล 

คำถามคือ ถ้ายุโรปเริ่มลดการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียจะกระทบต่อรัสเซียแค่ไหน แต่อีกคำถามที่น่าสนใจคือ จะมีเพียงแค่รัสเซียที่ได้รับผลกระทบนี้หรือจะกระทบไปทั่วโลก? คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์ให้ฟังใน 2 ประเด็นนี้ครับ

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัมภาษณ์ ดูคลิปเต็มได้ที่ https://youtu.be/AIOMpsKsMCY

“นี่ถือว่าเป็นปัญหาที่ความต้องการทางการเมือง ไม่ได้ไปกับความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจ ถ้าหากว่ารัสเซียขายน้ำมันให้ยุโรปไม่ได้ ถามว่ารัสเซียไปขายประเทศอื่นแทนได้หรือไม่?

ผมไปดูตัวเลขประมาณการซื้อน้ำมันของประเทศอื่นที่ไม่ได้อยู่ในค่ายตะวันตก นั่นคือจีน อินเดีย เอเชีย และอเมริกาใต้มาบวกกัน รวมๆ กันแล้วประเทศเหล่านี้ซื้อน้ำมันประมาณ 18-19 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับที่รัสเซียขายให้ยุโรปประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เรียกว่าปริมาณน้ำมันที่รัสเซียขายให้ยุโรปแค่ประมาณ 1 ใน 5 ขอตัวเลขเท่านั้นเอง”

จากตัวเลขเบื้องต้นนี้ ก็มองได้ว่าการ Switch หรือการไขว้ก็น่าจะเกิดขึ้น นั่นคือเมื่อยุโรปเลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซียแน่นอนว่ายุโรปก็ต้องมาแย่งซื้อจากซาอุดีอาระเบียหรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อ demand เพิ่มก็จะทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้น ประเทศที่เคยซื้อน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียหรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็อาจจะมองว่า ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจจะไขว้ไปซื้อจากรัสเซียแทนก็ได้ เมื่อ demand และ supply ปรับสมดุล ราคาตลาดโลกก็ไม่น่าจะกระเพื่อมมากเกินไป 

แน่นอนว่าอาจจะกระทบรายได้รัสเซียอยู่บ้าง เพราะการที่จะล่อใจให้คนที่อยู่ในฝั่งตะวันออกย้ายจากซาอุดีอาระเบียมาซื้อน้ำมันจากรัสเซีย รัสเซียต้องลดราคา ซึ่งราคาน้ำมันจาก 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็ลดลงเกือบ ๆ 35-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ณ​ วันที่ 2 มิ.ย.65)  เพราะฉะนั้น ผลก็คือราคาน้ำมันตลาดโลกนิ่ง แต่ราคารัสเซียลง เมื่อเป็นแบบนี้คนที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นจีนและอินเดีย ซึ่งซื้อน้ำมันรัสเซียได้ในราคาถูกลง

แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่คุณธีระชัยวิเคราะห์ต่อว่าอาจจะไม่ทำให้การ Switch หรือไขว้ซื้อเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ตามกลไกการปรับราคา

“ผมไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของการขนส่งทางเรือครับ ปัญหาคือน้ำมันที่รัสเซียขายให้กับยุโรป 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวันปกติถูกขนส่งโดยเรือซึ่งระยะทางซึ่งใกล้นิดเดียว จากริมบนทะเลบอลติกมายุโรป หรือไม่ก็จากทะเลดำผ่านทางเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามาทางอิตาลีก็ใกล้นิดเดียว แต่ถ้ารัสเซียต้องส่งไปประเทศอื่น  ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อเมริกาใต้ หรือประเทศอื่นในเอเชียมันเดินทางไกลกว่า มันทำให้เรือใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่า 

ขณะเดียวกัน ฝั่งยุโรปก็เหมือนกัน เดิมยุโรปซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ถ้าเปลี่ยนไปซื้อจากซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือแม้แต่ไปซื้อจากแอฟริกา ระยะทางก็ไกลกว่า เพราะฉะนั้น เรือจะใช้เวลาในการเดินทางและขนถ่ายขึ้นลงนานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้จำนวนเรือไม่เพียงพอ 

เรื่อขนส่งพวกนี้ไม่ใช่ว่าเรือเขามีสำรองเอาไว้นะครับ เรือแต่ละลำค่าใช้จ่ายในการสร้างสูงมาก เขาไม่สามารถซื้อมาเก็บไว้เฉย ๆ ทุกวันเรือต้องออกแล่น และจากเดิมใช้เรือแล่นจำนวนเท่านี้ แต่ถ้าอยู่ดี ๆ ไปขยายระยะเวลาในการแล่นเพิ่มไปอีกซักอาทิตย์หนึ่งจะทำให้จำนวนเรือไม่พอ เมื่อจำนวนเรือไม่พอวิธีแก้ก็คือไปหาเรือเพิ่มถูกหรือไม่ครับ

ทีนี้ ผมก็เข้าไปดูรายชื่อว่าใครเป็นบริษัทเจ้าของเรืออันดับต้น ๆ ของโลก ดูชื่อไปแล้วปรากฎว่าเป็นฝั่งตะวันตกซะส่วนใหญ่

อย่างกรณีของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมัน 100% เขาขนส่งโดยเรือของญี่ปุ่นเองประมาณ 90% จีนเวลานำเข้าน้ำมันใช้เรือของตัวเองแค่ 20% เพราะสร้างเรือยังไม่ทัน เพราะฉะนั้น อำนาจต่อรองในเรื่องของเรืออยู่ในมือตะวันตกมากกว่าที่คิด 

แม้ว้าตอนนี้จะเกิดปัญหาว่าทางบริษัทประกันเริ่มไม่ยอมรับประกันการส่งน้ำมันของรัสเซีย เพราะกลัวจะมีไปติดเรื่อง Sanction แต่ตรงนี้ก็ยังพอแก้ปัญหาได้ เพราะยังสามารถไปประกันกับบริษัทประกันของจีน หรือของอินเดียก็พอได้ แต่พอเป็นปัญหาเรื่องจำนวนเรือ มันเป็นเรืองของทางฝั่งตะวันตก

ซึ่งถ้าเขาเกิดบีบได้ก็จะทำให้กลายเป็นว่าน้ำมันของรัสเซียที่ยุโรปไม่ซื้อ แล้วจะต้องย้ายไปขายประเทศอื่นที่ระยะทางไกลมากขึ้น อาจจะหาเรือส่งไม่ได้ ถ้าเกิดหาเรือส่งไม่ได้ หาเรือส่งไม่ทัน เรือที่จะส่งเกิดติดขัดแค่ 10% ก็เกิดปัญหาแล้ว

เพราะว่าน้ำมันมันที่สูบขึ้นมารัสเซียไม่มีแหล่งเก็บ ไม่มีความสามารถในการที่จะเก็บน้ำมันได้ ที่ผ่านมาคือสูบขึ้นมาก็ต้องลงไปในเรือเลย และถ้าหากไม่มีเรือเขาต้องปิดหลุมครับ เขาต้องหยุดสูบ พอปิดหลุมกว่าจะมาเริ่มใหม่ไม่ใช่ง่าย อย่างกรณีของในอเมริกา กว่าจะเริ่มต้นเปิดหลุมใหม่ต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างเร็วร่วม 6 เดือน”

นอกจากประเด็นเรื่องบริษัทประกันและจำนวนเรือแล้ว กำลังขุดเจาะน้ำมันของรัสเซียเองก็กำลังลดลงด้วย เพราะเมื่อบริษัทตะวันตกที่ปกติให้บริการรัสเซียในเรื่องการดูแลซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ในการขุดเจาะน้ำมันระงับการให้บริการ ก็ทำให้อัตราการผลิตน้ำมันของรัสเซียดลงไปเรื่อย ๆ 

พอมาเจอปัญหาว่ารัสเซียเองไม่สามารถหาเรือส่งได้บวกกัยอัตราการผลิตที่ลดลง อาจทำให้รัสเซียต้องปิดหลุม ซึ่งจะทำให้จำนวนการผลิตน้ำมันในโลกหายไป และถ้าซาอุดีอาระเบียไม่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมา supply น้ำมันของโลกก็อาจจะสะดุด ซึ่งเราก็คงต้องจับตาดูกันต่อครับว่านานาประเทศจะปรับตัวกันอย่างไร

ติดตามความรุ้และอัปเดต “TAM-EIG_ลงทุนนอก ต้องออกไปให้รู้” https://bit.ly/3PBKuYi

Exit mobile version