ผมมีโอกาสคุยกับนักธุรกิจหลายคน เชื่อไหมครับว่าหลายๆปัญหาที่ SMEs ส่วนใหญ่เจอ ปัญหามาจากการไม่แยกให้ชัดเจน ระหว่างเงินส่วนตัวและเงินของธุรกิจครับ
หลายคนอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก
หลายคนอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย
หลายคนอาจจะคิดว่า เงินธุรกิจก็เหมือนเป็นเงินของเรา ใช้รวมๆกันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละครับ ที่ทำให้เกิดหลายปัญหาตามมา
========
1. “ขาดทุนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว”
“ร้านสลัดของผมขายดีมากๆ แต่สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็เกือบจะเจ๊งละครับ” เป็นคำพูดของคุณกล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้ปลุกปั้นโจนส์สลัด ร้านสลัดเพื่อสุขภาพที่โด่งดัง
คุณกล้องเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงที่เปิดสาขาแรกใหม่ ๆ เค้าเคยใช้โปรโมชั่น จัดหนัก จัดเต็มครับ ให้คนมาจับฉลากลูกปิงปอง ถ้าโชคดีก็จะได้กินฟรี
เป็นอีกกลยุทธ์ที่ทำให้คนมาเข้าแถวซื้อสลัด ยาวเหยียดทุกวัน แต่ปัญหาเกิดขึ้นที่ช่วงแรกคุณกล้องไม่ได้แยกกระเป๋าเงินให้ดี ไม่ได้จดบัญชีให้เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้แม้ว่าโปรโมชั่นนั้นจะทำให้ร้านขาดทุน แต่ก็มีเงินส่วนตัวมาโปะไว้ ทำให้ไม่เห็นปัญหา
กรณีนี้ยังดีที่คุณกล้อง รู้ตัวเร็ว เริ่มเอะใจตรงที่รู้สึกเหนื่อยแทบตาย และขายดีมากๆ แต่ทำไมถึงไม่มีตังค์เหลือ ทำให้แก้ไข ทำบัญชี และปรับกลยุทธ์ทำให้ยอดขายก็ยังดี และร้านเองก็กลับมามีกำไรอย่างงดงามครับ
========
2. กำไรดี แต่อยู่ไม่รอด
“ร้านส้มตำของพี่ขายดีนะ แต่ไม่ค่อยมีตังเหลือ” ผมว่าเป็นปัญหาสุดคลาสสิคที่หลายคนเจอกันบ่อยๆครับ
กรณีนี้เกิดขึ้นกับ รุ่นพี่ผมเองครับ เค้าเปิดร้านส้มตำที่ขายดีมาก ๆ ซึ่งเป็นกรณีตรงกันข้ามกับข้อแรก เพราะกรณีนี้ ร้านขายได้กำไรนะครับ แต่เราเองต่างหาก ที่ดึงเงินของร้านมาใช้แบบไม่รู้ตัว
รุ่นพี่เล่าให้ฟังต่อว่า เค้าให้เงินเดือนลูกน้องทุกคน “แต่พี่ไม่ได้ให้เงินเดือนตัวเองนะ เพราะพี่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว”
ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นที่ปรึกษาการเงิน ผมถามทันทีครับว่า แล้วพี่แบ่งกำไรจากธุรกิจอย่างไร
“อ่อ พี่ก็เอาเงินในลิ้นชักเนี่ยละ เอาไปซื้อผัก ซื้อเนื้อ แล้วก็ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ร้านมีกำไรเหลือหนิ” รุ่นพี่ผมตอบอย่างภาคภูมิใจ
นี่แหละครับคือต้นตอของปัญหาที่รุ่นพี่ไม่มีเงินเหลือ จิตวิทยาของคนทั่วไป ถ้าเรารู้เงินเดือนของตัวเองชัดเจน เช่น 10,000 บาท เราก็จะมีการจำกัดการใช้เงินอัตโนมัติครับ (เพราะเรารู้แล้วนิ ว่าเรามีเงินเท่าไหร่)
แต่ถ้าเราไม่รู้งบประมาณ และไม่แยกจากเงินของบริษัท ก็หยิบเงินออกจากลิ้นชักเพลินเลย นั่นหมายความว่าเรากำลังเอาเงินที่เป็นกำไรบางส่วนของการทำธุรกิจมาใช้ส่วนตัว แบบที่เราไม่รู้ตัว สุดท้ายก็ต้องมานั่งสงสัยว่า ขายดี๊ดี แต่ทำไมเงินไม่เหลือ
========
3. ไม่สามารถประเมินเงินสำรองได้
พี่เซธ คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ เคยให้ข้อคิดไว้ว่า เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจมักจะมองโลกสวย คิดว่าจะทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น แต่อาจจะลืมไปว่า โลกแห่งความเป็นจริงอาจจะโหดร้ายกว่าที่เราคิดครับ
ถึงแม้ว่า อาจจะไม่เจอกรณีแบบ 2 ข้อแรก สามารถประคับประคองร้านมาได้ แต่เพราะไม่ได้แยกเงินชัดเจนนี่แหละ ทำให้ไม่สามารถประเมินเงินสำรองที่ธุรกิจควรจะต้องมีได้
เพราะมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจจะลดลง, ค่าแรงอาจจะเพิ่มขึ้น, ธุรกิจอาจจะเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ เป็นต้น และเชื่อไหมครับว่า เวลาที่เกิดความเสี่ยงก็มักจะมาพร้อมๆกัน ดังนั้นถ้าเราไม่มีเงินสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ธุรกิจเราก็อาจจะไปต่อไม่ได้
========
4.“กู้เงินจากสถาบันทางการเงินยาก”
เงินทุนหมุนเวียนคือ เส้นเลือดของธุรกิจ ที่จะตัดสินว่าธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่
แหล่งเงินทุนหมุนเวียนมาได้หลายทางครับ อาจจะเป็นเงินของตัวเอง ของครอบครัว แต่ถ้าไม่พอก็คงจะต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
ถ้าเราไม่แยกกระเป๋าเงิน ออกจากเงินของธุรกิจ ไม่มีรายรับ รายจ่ายของธุรกิจที่แท้จริง เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินก็ยากละครับ เพราะธนาคารไม่สามารถประเมินความสามารถทางธุรกิจ สภาพคล่อง และตัวบ่งชี้อื่นๆได้ ทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจว่า เรามีโอกาสที่จะคืนเงินให้เค้าได้หรือไม่
ทำให้เมื่อมีโอกาสเข้ามา แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อขยายธุรกิจได้ เราก็อาจจะพลาดโอกาสสำคัญไปเลยนะครับ
========
ข้อคิดที่อยากฝากไว้คือ ทำธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็ก หรือใหญ่ ควรจะแยกกระเป๋าเงินชัดเจน ระหว่างเงินส่วนตัว และเงินบริษัท เพื่อป้องกันการสับสนและใช้เงินผิดประเภท
ย้ำอีกทีครับ เรื่องเล็กๆน้อยๆนี่แหละครับ ที่อาจจะชี้เป็นชี้ตายธุรกิจของเราได้เลย
หากใครที่อยากจะเริ่ม แล้วมืด 3 ด้าน แนะนำในเริ่มง่าย ๆ ก่อนเลย
1. เปิดบัญชีธนาคารแยกกัน ระหว่างเงินที่ใช้กับธุรกิจและเงินส่วนตัว
2. จดบันทึก รายรับรายจ่ายสำหรับเงินสดสำรองที่ใช้ในธุรกิจ เหตุผลคือเราจะได้สามารถมาดูย้อนหลังได้ว่า มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปปนอยู่หรือไม่
3. หากต้องการนำผลกำไรจากธุรกิจมาใช้ ให้จ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง (ห้ามไปเปิดลิ้นชักของร้าน หยิบเงินมาใช้นะครับ)
อันนี้เป็นขั้นตอนง่าย ๆ ที่สามารถทำได้เลยสำหรับธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ หากธุรกิจขยายขึ้นการจดทะเบียนนิติบุคคลก็จะช่วยให้แบ่งแยกระหว่างธุรกิจและส่วนตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการทำธุรกิจ ทำธุรกิจมีความสุขนะครับ