“ต้นทุนค่าแรง” และ “ขาดแคลนแรงงานไทย” คงจะเป็นสองเหตุผลหลักที่ทำให้ร้านอาหารในบ้านเรา กลายเป็นร้านอาหารนานาชาติไปโดยปริยายว่ามั๊ยครับ
เมื่อมีความหลากหลาย แน่นอนว่าก็มีความแตกต่างตามมา ด้วยพื้นเพที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ทำให้กลายเป็นความท้าทายของร้านอาหารไทยในยุคนี้เช่นกัน ว่าจะปรับตัวอย่างไรในการบริหารพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ
วันนี้เลยอยากชวนคิด เกี่ยวกับมุมมองที่เจ้าของร้านอาหารสามารถนำมาเริ่มปรับใช้ได้แบบเบา ๆ กันครับ
===============
เข้าใจสิ่งที่เค้าเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เค้าเป็น
“การบริหารพนักงานที่มีหลายเชื้อชาติ คือความท้าทายอย่างมากครับ” “แต่ถ้าทำได้ ก็คุ้มค่ามากเช่นกัน”
เป็นประโยคทองที่พี่เค วรทัศน์ ตันติมงคลสุข เจ้าของ LogisticOne ผู้นำธุรกิจขนส่งในกัมพูชา เล่าให้ผมฟังสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ
“รู้มั๊ย ว่าบางชนชาติเค้านอนพักตอนกลางวันกัน แล้วทำงานต่อตอนเย็น”
“ในขณะที่บางชนชาติจะขยันแบบสุดๆ ทำงานแบบไม่พักเลย”
สิ่งที่พี่เค อยากจะสื่อคือ ถ้าพวกเค้าทำอะไรที่ในมุมมองของเราเป็นเรื่องที่ผิด เรื่องที่ไม่ดี อย่าเพิ่งด่วนสรุปโดยใช้ “สิ่งที่เราอยากให้เค้าเป็น” มาเป็นตัวตัดสิน
มันต่างกันนะครับ… เพราะธรรมชาติของเรา มักจะมองสิ่งต่างๆจากมุมมองของตัวเอง “ทำไมเค้าไม่ทำแบบนั้น ทำไมเค้าถึงทำแบบนี้” ซึ่งหลายครั้งอาจจะทำให้รู้สึกขุ่นข้องหมองใจกันบ้าง
สิ่งที่ควรทำ คือ ทำความเข้าใจลักษณะของคนแต่ละเชื้อชาติให้มากที่สุด ลองหาข้อมูลดู หรือถ้ารู้ประวัติศาสตร์ก็จะยิ่งช่วยทำให้เราเข้าใจความคิดของเค้าได้มากขึ้นเช่นกัน
===============
เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตามเสมอไป
ถูกครับ ว่าพวกเค้าเข้ามาทำงานที่บ้านเราก็ควรจะต้องพูดภาษาของเรา แต่อย่าลืมว่า การทำให้พวกเค้ารู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเปลี่ยนงานลดน้อยลง
“เคล็ดลับการเรียนรู้วัฒนธรรมให้เร็วที่สุด คือการเรียนรู้ภาษาเค้าคะ” เป็นคำแนะนำจาก คุณอรนุช ผการัตน์ นักธุรกิจไทยที่บุกเบิกทำธุรกิจในกัมพูชามานานหลายสิบปี
คุณอรนุช บอกว่าเรื่องเล็กน้อยที่คนพลาด คือเรื่องภาษา เพราะการที่เราเข้าใจภาษาเค้าจะช่วยทำให้เราคุยกับเค้าง่ายขึ้น สร้างความคุ้นเคย การทำงานก็ง่ายขึ้นมาก
“ภาษาไทย กับ สปป.ลาว แทบจะเหมือนกันเลย” “สำหรับภาษาไทย กับกัมพูชาเองก็ใกล้เคียงมาก ถ้าตั้งใจเรียน ก็ใช้เวลาไม่นาน”
เพราะฉะนั้นลองดูครับ อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆแต่สร้างความรู้สึกที่แตกต่างอย่างมากให้กับพนักงานต่างชาติของเรา
===============
แม้จะต่าง ก็ต้องการความเท่าเทียม
จริงๆแล้วไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เรื่องความเท่าเทียมกันก็เป็นสิ่งพื้นฐานที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ
แต่ในกรณีนี้ ผมหมายถึงว่าต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษครับ เพราะหลายๆอย่างที่เป็นความต่างอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม
ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารภายในร้าน จากที่เคยติดประกาศต่างๆเป็นภาษาไทยทุกคนก็เข้าใจดี แต่ถ้ามีพนักงานต่างชาติ อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เข้าใจ แล้วเรามีวิธีการอื่นมาเสริมเพื่อให้พนักงานกลุ่มนี้ได้รับข้อมูลเท่าเทียมกับคนอื่นๆหรือไม่?
===============
เปิดใจเพื่อเข้าใจ ให้เยอะกว่าเดิม
ข้อนี้จำเป็นสำหรับการบริหารพนักงานในทุกที่ครับ โดยเฉพาะสังคมที่ขี้เกรงใจแบบวัฒนธรรมเอเชีย
“การที่เค้าพยักหน้า อาจจะไม่ได้แปลว่าเค้าเข้าใจนะครับ” “และหลายเชื้อชาติ เวลามีปัญหา…เค้าอาจจะไม่กล้าพูด” พี่เค วรทัศน์ ยกตัวอย่างเพิ่มเติม
พนักงานบางคนจะรู้สึกต้องให้เกียรติผู้บังคับบัญชา เพราะฉะนั้นก็จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
ความน่ากลัวของการไม่พูด มีหลายอย่าง ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาตามมาเช่น เราจะคิดไปเอง ทั้ง ๆ ที่อีกฝ่ายไม่ได้ตั้งใจจะสื่อสารแบบนั้น
หรืออีกด้านคือ ผู้บริหารจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพราะพนักงานไม่เคยบอกปัญหาให้ฟัง
วิธีแก้คือ ผู้บริหารอาจจะใช้วิธีชวนพนักงานไปทานข้าวด้วยกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง ทำให้รู้สึกผ่อนคลายเกิดความคุ้นเคย และกล้าที่จะเล่าปัญหาให้ฟังเมื่อมีปัญหา
“อย่าลืมว่า ธรรมชาติของคนจะรู้สึกดีที่ผู้บริหารรับฟัง” “ในขณะที่การขาดการทำความเข้าใจ นานวันเข้าจะทำให้เกิดความแตกแยก”
ถ้าเราไม่เริ่มเปิดใจฟังทีมงาน กว่าจะรู้ตัวอีกที…. ร้านอาหารของเราก็อาจจะเสียหายไปแล้ว
===============
ความเห็นของ ถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน
มุมมองเหล่านี้ นอกจากมองเห็นแล้ว เราต้องลงมือฝึกฝนด้วยเช่นกัน
เหตุผลที่ผมใช้คำว่าฝึกฝน เพราะเรื่องของการจัดการคนไม่ใช่ทักษะที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน โดยเฉพาะ ทักษะการบริหารจัดการร้านที่มีพนักงานหลายเชื้อชาติแล้ว ไม่ง่ายเลยนะครับ
ทำวันละนิด ฝึกฝนวันละหน่อย จะทำให้เราเข้าใจคนในแต่ละชาติมากขึ้น ยิ่งเราเข้าใจเค้ามากเท่าไหร่ ก็จะช่วยทำให้สามารถดึงคนให้ทำงานกับเราได้นานขึ้น … สิ่งที่เจ้าของร้านทุกคนต้องการ จริงมั๊ยครับ?