ก่อนที่จะตอบคำถาม… คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้มีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่กำลังกระทบต่อการลงทุน
ยาวหน่อยนะค้าบ แต่อ่านแล้วนักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเราจะเก่งขึ้น และเข้าใจโลกการลงทุนมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ 🙂
(ถ้าอยากอ่านย้อนหลังว่า ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจย้อนหลัง 100 ปีเป็นยังไง คลิกเลย …)
=======
1. ธนาคารกลางหลายแห่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันจัดหนัก จัดเต็ม
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากมายครับ ก็อย่างที่เราได้ยินตามข่าวอะครับ เช่น ลดดอกเบี้ย, พิมพ์เงินแล้วซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE)”
เฮีย Ray Dalio นักลงทุน Hedgefund ที่กำลังฮอตที่สุดในยุคนี้บอกว่า ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืนครับ แต่ก็ทำให้สินทรัพย์การเงินทั่วโลกวิ่งกระจุยทั้งทางตรงและทางอ้อมนับตั้งแต่ปี 2009
“ทางตรงคือการที่เงินไหลเข้าไปซื้อสินทรัพย์ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น” “ส่วนทางอ้อมคือ การที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น ค่า P/E ก็จะสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีบางบริษัทที่กู้เงินด้วยดอกเบี้ยต่ำ แล้วไปซื้อหุ้นคืน หรือนำไปซื้อกิจการหรือซื้ออสังหาา” แหม… พูดซะเห็นภาพเลยครับ
แต่ที่บอกว่ามาตรการแบบนี้ไม่ยั่งยืน เป็นเพราะว่าอัตราดอกเบี้ยก็คงจะไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามาตรการ QE เริ่มได้ผล (ต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้น) น้อยลงเรื่อยๆ จริงไหมครับ?
อีกอย่าง เงินที่ถูกปั๊มเข้าสู่ระบบ ตอนนี้อยู่กับนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ซื้อและถือสินทรัพย์อยู่ (ตอนนี้ราคาขึ้นก็จริง แต่ตอนนี้ความคาดหวังว่าผลตอบแทน ก็เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับการถือเงินสด)
“ทำให้มีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง ทำให้ยากที่ราคาของสินทรัพย์จะขึ้นไปต่อได้อีก” ในขณะเดียวกันธนาคารกลางหลายแห่งก็จัดหนัก ใช้มาตรการผ่อนคลายมากมาย ซึ่งนั่นจะทำให้ นักลงทุนหันไปมองการลงทุนทางเลือกเช่น ทองคำ เป็นต้น เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถรักษาความมั่งคั่งได้
=======
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มได้ผลน้อยลง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ว่านี้ก็คือการลดดอกเบี้ยหลักการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) การพิมพ์เงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
“มาตรการเหล่านี้เริ่มได้ผลน้อยลงและมีปัญหาคือภาระหนี้สินที่มากเกินไป” เฮียอธิบายเพิ่มเติมว่ายังมีภาระที่ไม่ได้เป็นหนี้สินสักทีเดียว เช่นเงินบำนาญและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาลในอนาคต
แต่ยังไม่รวมถึงมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆอีกเช่นการลดค่าเงินและมาตรการการขาดดุลการคลังที่กำลังกลายเป็นเงินก้อนโตที่ไหนท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องจ่ายคืน
=======
3. รัฐบาลจะช่วยใครระหว่างเจ้าหนี้หรือลูกหนี้?
หลักการที่เราต้องทำความเข้าใจคือ ภาระหนี้สินของคนคนหนึ่งก็คือสินทรัพย์ของอีกคน อ้าวแล้วมันสำคัญยังไงล่ะ?
เล่าให้ฟังง่ายๆอย่างนี้ครับ ถ้าสังเกตุให้ดี…นโยบายการเงินนั้นจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
อย่างแรกคือการช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งนั่นก็หมายความว่าภาระจะตกอยู่ที่เจ้าหนี้ แปลว่าอะไรครับ? ยกตัวอย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับผลตอบแทนที่น้อยลง แต่ลูกหนี้ก็จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงด้วย
ในขณะที่อีกกรณีหนึ่งคือการใช้ในโยบายทางการเงินช่วยเหลือเจ้าหนี้แต่คนที่รับภาระก็คือลูกหนี้
“เช่นการใช้นโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนั่นก็จะช่วยทำให้เจ้าหนี้ได้รับผลตอบแทนในการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ลูกหนี้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน”
เห็นภาพเลยนะครับ… เฮีย Ray Dalio ชวนตั้งคำถามว่าถ้าเราเป็นธนาคารกลางเราจะช่วยใครระหว่างเจ้าหนี้หรือลูกหนี้
เรายังไม่ทันตอบ.. แกอธิบายต่อเลยครับว่าในความเห็นของแกนั้น ชัดเจนมากว่าธนาคารกลางจะช่วยลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้ครับ
แล้วก็ชัดเจนด้วยว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งนั่นจะเป็นการลดค่าของเงินแล้วทำให้ผลตอบแทนของเจ้าหนี้ลดลงเช่นกัน
“ตอนนี้เหมือนเป็นการวัดใจว่าเจ้าหนี้ (ผู้ถือพันธบัตร) จะปล่อยให้ธนาคารกลางใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบไปอีกนานแค่ไหน ถ้านานมากไปก็พร้อมที่จะขายแล้วไปลงทุนสินทรัพย์อื่น”
=======
4. ใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการลงทุนหรือยัง?
เฮียบอกว่า “จริงๆแล้วผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่าการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ (วิกฤติการเงิน) จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รู้แค่ว่ามันใกล้มากๆ แล้วมันก็จะมีผลต่อวงจรเศรษฐกิจรอบถัดไปด้วย”
และถ้าดูข้อมูลสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1960 ก็จะเห็นว่าทุกๆครั้งที่อัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารกลางต่างๆ (เช่นสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น) ก็จะใช้มาตรการพิมพ์เงินออกมา
“แม้ว่าตอนนี้ธนาคารกลางยุโรปจะยุติการพิมพ์เงินในปี 2018 แล้ว แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ยังไม่หยุดทำให้เงินที่หมุนเวียนในระบบยังเยอะมาก”
แต่ตอนนี้หลายๆธนาคารกลางก็เริ่มที่จะเปลี่ยนท่าทีหันกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เหตุผลคือตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก
=======
5. ช่วงที่ผ่านมามีการซื้อหุ้นคืน ควบรวมกิจการ และซื้อกิจการเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนที่เรียกว่า private equity และ venture capital ที่มองหาโอกาสลงทุน (ในกิจการ startup หรือบริษัทนอกตลาดฯ)
เฮีย Ray Dalio อธิบายว่าช่วงก่อนหน้านี้ต้นทุนทางการเงินต่ำมาก และมีเงินจำนวนมากในระบบการเงิน (แต่ละธนาคารกลางต่างก็พิมพ์เงินออกมา) ทำให้ราคาหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆพุ่งสูงขึ้น (เงินที่พิมพ์ออกมาก็ไหลไปซื้อสินทรัพย์เหล่านี้) และทำให้เงินสดแทบจะไร้ค่าเลยครับ
“การที่ราคาของสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้น ก็เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใครก็ตามที่มีสินทรัพย์เยอะ และได้ประโยชน์มากกว่าคนไม่มี” พูดง่ายๆคือคนรวย ยิ่งรวยขึ้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขึ้น และส่งผลทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา
=======
6. อัตราทำกำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นแบบสุดๆ
อัตราทำกำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเร็วมากครับ เพราะมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ และโลกาภิวัฒน์ก็ทำให้ต้นทุนแรงงานถูกลง (ในระยะยาว) แต่เฮียมองว่า น่าจะไม่เสมอไป ในอนาคตอัตราทำกำไรน่าจะลดลง
“เหตุผลคือ การที่นายทุนได้ประโยชน์ นั่นหมายความว่าแรงงานเสียประโยชน์” และนี่จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มแรงงานและอาจจะเริ่มต่อต้าน (เจ้าของบริษัท)
=======
7. การลดภาษีเป็นเรื่องที่ดีชั่วคราวเท่านั้น
ทันทีที่พี่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แกก็ประกาศลดภาษีนิติบุคคลทันทีครับ ซึ่งนั่นเป็นข้อดีที่ทำให้ตลาดหุ้นวิ่งฉิว เพราะบริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้นทันที แต่มองว่าเป็นเพียงแค่เหตุการณ์ชั่วคราว และอาจจะเป็นไปได้ที่ภาษีอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้น ถ้าหากพรรคเดโมแครตกลับมาเป็นรัฐบาล
=======
8. วงจรเศรษฐกิจรอบถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ครับ?
คงเป็นคำถามเดียวกับที่ ถามว่า แล้ววิกฤติเศรษฐกิจรอบถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ แกก็ยังยืนยันคำตอบว่าจริงๆก็ไม่รู้หรอก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปีนี้ครับ
เหตุผลมีอยู่หลายข้อด้วยกันเช่น ธนาคารกลางแต่ละประเทศเริ่มที่จะหมดมุขและไม่มีมาตรการในการกระตุ้นตลาดหุ้นและเศรษฐกิจแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ
เหตุผลข้อถัดมาคือ ตอนนีมีภาระหนี้สินและภาระการเงินด้านบำเหน็จบำนาญรวมถึงสุขภาพเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ยังไม่เป็นไรหรอกครับ แต่ถ้ามันถึงกำหนดที่จะต้องชำระเมื่อไหร่ และถ้าไม่สามารถหาสินทรัพย์อะไรมาจ่ายแทนได้ อันนี้แหละงานเข้าครับ
=======
9. วงจรเศรษฐกิจรอบนี้กำลังจะจบลงด้วยหลายเหตุผล
“มองในมุมกลับครับ วงจรเศรษฐกิจรอบนี้กำลังจะจบลงเมื่อผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยต่ำแบบสุดๆ” อืมเป็นมุมมองที่น่าคิดนะครับ เฮีย Ray Dalio บอกว่า คนไหนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำๆมากๆ ก็คงไม่อยากจะถือต่อจริงไหมครับ? ผลก็คือคนเหล่านั้นอยากที่จะขาย แล้วไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
หรืออีกกรณีคือ ความต้องการเงินจำนวนมากในการจ่ายภาระหนี้สิน ซึ่งถ้าไม่พอก็จะทำให้เกิดภาวะค่าเงินอ่อนค่า, การเพิ่มการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ และทำให้เกิดปัญหาทางความคิดระหว่างโลกทุนนิยม และสังคมนิยม
“ส่วนใหญ่คนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนที่น้อยมากๆ หรือติดลบด้วยซ้ำสำหรับสกุลเงินที่อ่อนค่า ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือนเป็นการเก็บภาษีไปในตัวครับ (โดยพฤตินัย)”
ตอนนี้นักลงทุนกำลังลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทน 0% หรือ ติดลบด้วยซ้ำ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ (แทบจะไม่ทำตังเลย ยกเว้นเสียแต่ว่าต้นทุนของการลงทุนนั้นๆ มีดอกเบี้ยที่ติดลบกว่านั้นอีก ซึ่งก็ยากที่จะเป็นแบบนั้น)
การลงทุนแบบนี้ยังถูกมองว่ามีความปลอดภัยที่จะถือเงินต้น ไปจนกว่าที่ผลตอบแทนจะแย่มากๆ (ซึ่งเป็นไปได้) หรืออีกกรณีคือช่วงที่ดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้น แล้วทำให้ราคาร่วงลง (ไม่คิดว่าธนาคารกลางจะใช้นโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นในตอนนี้)
=======
10. สิ่งที่นักลงทุนสนใจคือ ภาวะดอกเบี้ยต่ำ เพราะทำให้ราคาหุ้นหรือสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้น
ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามทฤษฏีจะทำให้สินทรัพย์มีราคาที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนคิดว่าการลงทุนครั้งนั้นให้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้นักลงทุนรู้สึกมีความสุขมาก แต่ในความเป็นจริงคือผลตอบแทนในการลงทุนในอนาคตมันก็จะน้อยลงไปด้วย
แต่ในทางกลับกันนักลงทุนจะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 0% เพราะจะทำให้ความคาดหวังในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงลดลงใกล้เคียงกับเงินสด หรืออีกกรณีคือ เมื่อต้องนำเงินไปจ่ายหนี้ หรือค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต
=======
11. ภาระหนี้สินอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
จุดที่ต้องระวัง คือ ช่วงที่ภาระหนี้สินถึงกำหนดต้องจ่ายครับ เพราะไม่น่าจะมีตังมากพอที่จะเอาไปจ่ายนั่นเอง (ครอบคลุมหลายอย่างครับ ทั้ง การดูแลรักษาพยาบาล, ประกันสังคม, ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับเงินบำเหน็จบำนาญ หรือภาระหนี้สินอื่นๆ)
เฮีย Ray Dalio อธิบายเพิ่มเติมว่า อนาคตอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้ในหลายกรณีครับ เช่น ถ้าไม่สามารถจ่ายภาระหนี้สินเหล่านี้ตามคำมั่นสัญญาได้ (เจ้าหนี้ก็คงจะไม่พอใจ)
กรณีที่ 2 คือ ถ้าภาครัฐเป็นหนี้มากๆ ภาครัฐก็ต้องเก็บภาษีมากขึ้น (คนรวยก็จะรวยน้อยลง ทำให้เค้าไม่พอใจ)
หรืออีกกรณีคือ รัฐบาลบางประเทศอาจจะใช้มาตรการขาดดุลมากขึ้น คำถามคือ จะมีตังพอในการจ่ายภาระหนี้สินได้อย่างไร (อาจจะทำให้ค่าเงินอ่อนค่า หรือ อาจจะทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนลดลง ซึ่งจะกระทบกับคนที่ลงทุนในตราสารหนี้และสินทรัพย์อื่นๆ)
=======
12. พันธบัตรและเงินสดจะไม่ใช่สินทรัพย์ที่น่าลงทุนอีกต่อไป
เฮียแกดูจะไม่ปลื้ม พันธบัตรและเงินสดเลยครับ เหตุผลหลักๆคือ รัฐบาลแต่ละประเทศก็จะพิมพ์เงินออกมาเพื่อจ่ายภาระหนี้สิน เพราะนี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและถูกวิพากย์วิจารณ์น้อยที่สุดในการที่จะลดภาระหนี้สินโดยที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีกับประชาชน
“ผมมองว่า พันธบัตรจะให้ผลตอบแทนที่แย่มากๆ แต่ราคาพันธบัตรก็จะไม่ลดลง และน่าจะยังไม่เห็นอัตราดอกเบี้ยสูง” เพราะธนาคารกลางหลายแห่งจะเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง และทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น
เฮีย Ray Dalio มองว่า วงจรเศรษฐกิจและการลงทุนรอบต่อไปจะคล้ายๆกับ ช่วงทศวรรษ 1940 (เป็นช่วงที่รัฐบาลทั่วโลกกู้ยืมเงิน และพิมพ์เงินจำนวนมาก)
=======
13. คำถามคือ การลงทุนประเภทไหนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ภาระหนี้สินกำลังจะครบกำหนด
แกมองว่าสินทรัพย์ที่จะเหมาะกับการลงทุนต้องเป็นสินทรัพย์ที่สามารถรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ เพราะเป็นช่วงที่ธนาคารกลางต้องการที่จะลดค่าเงินของแต่ละประเทศ
หลายคนมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงที่น่าลงทุนมากที่สุด คือหุ้น หรือ การลงทุนที่คล้ายๆหุ้น “แต่ผมไม่เห็นด้วย โดยมองว่าสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี ในช่วงที่ค่าเงินอ่อนค่าและช่วงที่มีความขัดแย้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ ทองคำ”
อีกเหตุผลที่คุณ Ray Dalio ชอบทองคำคือ ตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีทองคำในพอร์ตน้อยมาก แกแนะนำว่าถ้านักลงทุนคนไหนอยากที่จะลดความเสี่ยงการลงทุน ก็ควรจะซื้อทองคำติดพอร์ตหน่อยครับ
“เพราะฉะนั้นทองคำ คือสินทรัพย์ที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตในขณะที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนได้” เฮีย Ray Dalio สุดยอด Hedgefund แห่งยุคนี้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายครับ