เป็นอีกครั้งที่เฮียแกจัดหนักมากครับ คุณ Ray Dalio คือ hedgefund ที่ฮอตที่สุดในตอนนี้ครับ บริหารกองทุนใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 5 ล้านล้านบาท
อาจจะยาวหน่อยแต่บอกเลยอ่านจบ นักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเราจะเข้าใจ “การลงทุน” มากขึ้นเยอะครับ 🙂 เห็นด้วยไม่เห็นด้วยตรงไหนเข้ามาแชร์กันได้ครับ
========
1.”หนึ่งในหลักการลงทุนของผม คือ การบอกให้ได้ว่าตอนนี้เราในช่วงการลงทุนแบบไหน” คุณ Ray Dalio จั่วหัวมาซะน่าสนใจเลยครับ
เราต้องประเมินให้ได้ว่า การลงทุนตอนนี้เป็นแบบไหน และต้องนึกภาพให้ออกว่าภาพการลงทุนจะเปลียนไปยังไง และเมื่อไหร่ที่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้นจะหยุดลง
เฮียเล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาการลงทุน 50 ปีที่แกเป็นนักลงทุนแนวที่มองภาพ Macro (มองเศรษฐกิจในภาพใหญ่ให้ออก)
“สิ่งที่ผมเห็นคือ ทุกๆช่วงเวลาประมาณ 10 ปี วงจรการลงทุนจะเปลี่ยนทีนึงครับ” เฮียฟันธงว่าการที่สามารถประเมินวงจรและภาพการลงทุนให้ได้ และจัดพอร์ตให้ดี มีส่วนสำคัญของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จครับ
เหตุผลคือทุกสินทรัพย์การลงทุน รวมถึงหุ้น พันธบัตร เงินสด จะต้องเจอช่วงที่ตลาดไม่ดี นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เราต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา
========
2. มีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาพการลงทุนเกิดความไม่แน่นอน
วงจรการลงทุนแต่ละช่วงเกิดขึ้นกินระยะเวลานานมากจนหลายคนอาจจะลืมไปว่า สุดท้ายมันจะต้องถึงจุดจบลงสักวันหนึ่ง
“ยกตัวอย่างสุดจะคลาสสิค คือการเติบโตของการกู้ยืมเงินในอดีต ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อสินทรัพย์การลงทุน” “นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สินทรัพย์ทั่วโลก ราคาเพิ่มขึ้น” ประเด็นนี้คือสิ่งที่ทำให้คนเชื่อว่าการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (เพราะทำตังได้)
แต่อย่าลืมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดจบเสมอครับ เพราะใครก็ตามที่ยืมตัง เพื่อไปซื้อสินทรัพย์ หรือไปลงทุน พอถึงจุดหนึ่งตังก็จะหมด หรือวงเงินในการกู้ก็จะเต็ม ไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้
ซ้ำร้าย ต้นทุนในการกู้ยืมเงินสักวันนึง ก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่มี (ดอกเบี้ย) ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ถ้าถึงตอนนั้นงานเข้าแน่นอนครับ) และจะส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าและบริการของคนๆนั้น
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันจะเกิดการเปลียนแปลงของวงจรการลงทุนในช่วงนั้นครับ และในท้ายที่สุดราคาของสินทรัพย์การลงทุนก็จะร่วงหนัก
“วงจรแบบนี้มันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไป จนกว่ามันจะถึงจุดจบครับ” (แล้วก็เกิดวงจรใหม่)
========
3. ความผันผวนต่ำเป็นระยะเวลานานในท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการลงทุน
“ความผันผวนต่ำเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน มักจะนำไปสู่ความผันผวนสูง” ฟังตอนแรกก็งงๆนะครับ
เฮีย Ray Dalio อธิบายว่าพอเจอช่วงที่ผันผวนต่ำ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือ ยืมตังมากขึ้น (มากกว่าตอนช่วงที่เจอตลาดผันผวน) ทำให้ตลาดในท้ายที่สุดจะมีความผันผวนมากขึ้นครับ
========
4. ราคาตลาดเป็นสิ่งที่สะท้อนความคาดหวังของนักลงทุน
“อย่างที่เราทราบกันครับว่า ราคาตลาดบนกระดานเป็นสิ่งที่สะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนในอนาคต” โดยตลาดมักจะเคลื่อนไหวไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความคาดหวังของนักลงทุน
นี่คือเกมการลงทุน เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต จะช่วยทำให้เราเข้าใจตลาดได้มากขึ้น
เดี๋ยวแกจะค่อยๆเล่าให้ฟัง แต่ละช่วงเวลาว่าเป็นยังไง พร้อมลุยยังครับ ลุยอ่านต่อเลยค้าบบ
========
5. วงจรเศรษฐกิจ วงจรการลงทุนเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี
“เอาให้เห็นภาพง่ายๆ ช่วงทศวรรษ 1920 เป็นช่วงที่รุ่งเรื่อง” “ช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงที่ตลาดแย่”
ส่วนช่วง 1970 เป็นช่วงภาวะเงินเฟ้อ ส่วน 1980 คือช่วงภาวะเงินเฟ้อลดลง (ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด)
ข้อสังเกตคือ ทุกๆ 10 ปีจะมีคาแรคเตอร์ ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากช่วงอื่นๆ และทุกครั้งที่จบรอบเศรษฐกิจรอบใดรอบหนึ่ง นักลงทุนเองก็มักจะคาดหวังว่าเศรษฐกิจรอบถัดไปคงจะคล้ายๆกับรอบที่แล้ว (แต่นั่นคือสิ่งที่คิดผิด)
“วิธีการเอาชนะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา คือ คุณต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะเข้า เมื่อไหร่ควรจะออก หรือเมื่อไหร่ควรจะอยู่เฉยๆ” (เข้าซื้อตอนที่ราคาร่วง และทยอยขายตอนที่ราคาพุ่งขึ้นขึ้น)
อีกวิธีคือการจัดพอร์ตให้มีความสมดุล ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอแม้ว่าจะเจอตลาดขาขึ้น หรือ ขาลง
========
6. ช่วงทศวรรษที่ 1920 เป็นช่วงที่ตลาดพุ่งกระฉูด
เฮีย Ray Dalio ขยายความเพิ่มเติมครับว่า ช่วงต้นๆทศวรรษเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาหมาดๆ “นักลงทุนหลายคนเองก็กู้ยืมเงินมากขึ้น เพื่อมาซื้อหุ้น เพราะให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตร”
นั่นเลยเป็นเหตุผลให้ตลาดหุ้นวิ่งเป็นกระทิงเลยครับ และพอเรารู้สึกเพลินๆไปเรื่อยๆ เผลอแปบเดียวก็ช่วงปลายทศวรรษ แล้วก็จบลงด้วยฟองสบู่แตกในปี 1929
========
7. ส่วนช่วงทศวรรษที่ 1930s เข้าสู่ช่วงเวลาที่หดหู่มากๆครับ
เป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครับ ภาพนี่คนละเรื่องกับช่วง 1920 เลยครับ “เป็นช่วงที่เจอวิกฤติภาระหนี้สิน ซึ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด”
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐอยู่เฉยไม่ได้ครับ เข้ามาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินหลายอย่างแบบจัดหนักครับ “เช่นการยกเลิกการเชื่อมโยงกับทองคำ” “ลดอัตราดอกเบี้ยจนเหลือ 0%” “การพิมพ์เงิน และลดค่าเงินดอลลาร์”
สิ่งที่ตามมาคือ ราคาทองคำพุ่งกระฉูดมากๆครับ เช่นเดียวกับราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่วิ่งเป็นม้าเลยครับในช่วง 1932-1937
แต่นั่นก็ทำให้ปัญหาตามมามากมายครับ เช่นความเหลื่อมล้ำทางสังคม, ความขัดแย้งทางความคิดของโลกทุนนิยมและสังคมนิยม และนโยบายประชานิยม
หลังจากนั้นในช่วงปี 1937 ธนาคารกลางสหรัฐก็เริ่มใช้มาตรการที่ผ่อนคลายน้อยลง “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจย่ำแย่ ร่วงเละเทะ” “ไม่ใช่แค่นั้นครับเป็นช่วงที่เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กับหลายๆประเทศ ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น” (คุ้นๆกับภาพตอนนี้ไหมครับ?)
สิ่งที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือการเกิดสงครามทั้งในยุโรป และในเอเชีย เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่ตลาดหุ้นเละเป็นโจ๊กครับ
========
8. ช่วง 1940 เป็นช่วงสงครามและหลังเกิดสงคราม
“เป็นช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นถูกขับเคลื่อนด้วยสงครามครับ” เป็นช่วงที่รัฐบาลทั่วโลกกู้ยืมเงินอย่างหนักหน่วงและพิมพ์เงินมหาศาล และกระตุ้นการจ้างงานในภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนสงครามมม
เฮียบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังการผลิตของโรงงานดีมากๆ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อใช้ และถูกทำลายในสงครามทั้งสิ้น “เพราะฉะนั้นการวัดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น”
นโยบายการเงินช่วยทำให้เกิดการกู้ยืมเงินมหาศาลและนำมาจ่ายหนี้สินในช่วงหลังสงคราม และเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและนโยบายด้านการคลังถูกจัดหนักอย่างมาก
“ผลก็คือ ตลาดหุ้น พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ วิ่งฉิวทั้งแผงเลยครับ” โดยช่วงแรกสินค้าโภคภัณฑ์วิ่งก่อนครับ แต่พอหลังสงครามใกล้จะจบตลาดหุ้นก็วิ่งฉิวเช่นกัน
และเมื่อสงครามจบ…. สหรัฐก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเองก็กลายเป็นเงินสำรองที่ถูกผูกติดกับทองคำ ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นก็ผูกเข้ากับค่าเงินดอลลาร์อีกทีครับ
========
9. ส่วนช่วงทศวรรษ 1950 เป็นช่วงฟื้นฟูหลังสงครามจบครับ
“หลังจากที่ผ่านพ้นช่วง 2 ทศวรรษของช่วงเศรษฐกิจถดถอยและสงคราม” เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุน ชอบความมั่นคงมากกว่าความเสี่ยง
เป็นช่วงที่เงินปันผลในตลาดหุ้นสูงถึง 6.8% สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี กว่า 3 เท่า “หลังสงครามจบแล้ว จะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นฟูแรงมาก เติบโตเฉลี่ย 4% ตลอดทั้งทศวรรษ”
เฮีย Ray Dalio อธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ “ผลคือ ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนดีมาก”
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่รัฐบาลไม่ได้ใช้นโยบายขาดดุลมากมายแล้ว ในขณะที่ภาระหนี้สินของรัฐบาลลดลง เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคเอกชนเองก็อยู่ในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของรายได้ “ทำให้ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่สถานะการเงินดีมากๆ”
เป็นช่วงเวลาที่มีความต้องการของแรงงานชนชั้นกลางอย่างมาก และเป็นช่วงรุ่งเรืองจริงๆครับ
========
10. สำหรับช่วงทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่ฟองสบู่แตก
ช่วงครึ่งทศวรรษแรกเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตด้วยหนี้สินอีกครั้ง และทำให้เกิดปัญหาในช่วงครึ่งทศวรรษหลังครับ (และในท้ายที่สุดก็นำไปสู่จุดจบของระบบการเงิน Bretton Woods ที่ผูกระบบเงินตราเข้ากับทองคำ)
ตลาดหุ้นเองก็ให้ผลตอบแทนที่ดีไปจนถึงช่วง 1966 ครับเป็นช่วงตลาดขาขึ้นภาวะกระทิงเลยแหละครับ แต่อย่าลืมว่าภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไป ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเองก็เพิ่มสูงขึ้น
ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น (ช่วงนั้นเกิดภาวะ inverted yield curve ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1929)
โดยในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่ภาระหนี้สินเติบโตเร็วกว่ารายได้มาก และอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้น “นั่นหมายความว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ก่อนที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติในช่วงปลายทศวรรษในที่สุดครับ”
และนั่นก็คืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลกและวงจรการลงทุนอีกครั้งหนึ่งครับ
========
11. เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจเติบโตต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อสูง (เรียกศัพท์เทคนิคว่า stagflation) ในช่วงปี 1970 ครับ.
“ช่วงต้นทศวรรษนี้เป็นช่วงที่ภาระหนี้สินสูงมาก, ดุลการชำระเงินมีปัญหา และระบบมาตรฐานทองคำ ก็ถูกยกเลิกในปี 1971”
ผลคือ เงินถูกพิมพ์ออกมาเพื่อลดปัญหาภาระหนี้สิน, ค่าเงินดอลลาร์เองก็ถูกลดค่าลงมาเพื่อลดปัญหาขาดดุลต่างประเทศ และเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำมากและเงินเฟ้อเริ่มพุ่งทะยานขึ้นไป
“เป็นช่วงที่ดีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ” “แต่เป็นช่วงเวลาที่แย่มากสำหรับการลงทุนในหุ้นและพันธบัตร”
ในช่วงปี 1970-1973 และช่วง 1977-1980 เป็นช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย
========
12. ช่วงปี 1980 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแรงมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลง
เป็นช่วงเวลาที่แย่มากสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ สวนทางกับตลาดหุ้นและพันธบัตรที่บวกแรงมาก
วงจรเศรษฐกิจและการลงทุนเจอจุดเปลี่ยนในช่วงต้นทศวรรษ ตอนที่คุณ Paul Volcker อดีตประธานเฟด ใช้มาตรการทางการเงินแบบเข้มงวด ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง และเกิดภาวะวิกฤติหนี้สิน โดยเป็นช่วงที่ตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยคืนให้กับธนาคารของสหรัฐได้
แต่ต้องบอกว่าเป็นช่วงที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยทางธนาคารได้รับการสนับสนุน ทำให้มีสภาพคล่องมากเพียงพอ และหนี้สินก็ไม่ได้กระทบกับเงินทุนของธนาคาร
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินดอลลาร์ขาดแคลนมาก และเงินทุนก็ไหลเข้า ทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น” “ผลคืออัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง แม้ว่าเศรษฐกิจยังเติบโตดี” ทำให้ราคาตลาดหุ้นและพันธบัตรพุ่งหนักมาก
========
13. ถัดมาเป็นช่วง 1990 เป็นช่วงโชติช่วงชัชวาล
เป็นช่วงทศวรรษที่เริ่มต้นจากความวุ่นวาย เช่นภาวะเศรษฐกิจถดถอย, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, นโยบาย, ผ่อนคลายทางการเงิน ถึงการใช้วิธีกู้ยืมเงินเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นทำให้ช่วงแรกตลาดหุ้นพุ่งแรงมาก
“แต่สุดท้ายแล้วช่วงปลายทศวรรษก็จบลงด้วย ฟองสบู่ ดอทคอมแตก” หุ้นเทคโนโลยีร่วงและเป็นโจ๊ก
ทำให้เกิดการกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นเทคโนโลยีและสินทรัพย์อื่นๆ อีกครั้ง
หลังจากนั้นก็ตามด้วยเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ตามมาด้วยสงครามอิรักและอัฟกานิสถานซึ่งใช้งบประมาณไปมาก
========
14. ช่วง 2000-2010 ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง
เฮียฟันธงว่า ช่วงนี้มีความคล้ายกับช่วง 1920 ครับ เป็นช่วงที่มีการกู้ยืมเงินจำนวนมากทำให้นำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในปี 2008-2009 ครับ
เป็นช่วงที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงไปเหลือ 0% และทำให้ธนาคารกลางใช้มาตรการในการพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
“ตอนช่วงมาตรการ QE (พิมพ์เงิน) ได้เริ่มนำมาใช้ เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0%” อัตราเศรษฐกิจที่หักเงินเฟ้อออกก็อยู่ต่ำมากที่สุด ในรอบ 90 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วง 1930
และช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นต่ำที่สุดนับตั้งแต่ 1930 เช่นกัน, ค่าเงินดอลลาร์ก็ร่วงหนัก
“แต่ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ”
========
15. ช่วง 2010 จนถึงปัจจุบันเป็นช่วงที่เรียกว่า reflation
เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเพิ่งผ่านพ้นจุดต่ำสุด เป็นช่วงที่เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเกิดวิกฤต เป็นช่วงที่กลัว ไม่ค้อยกล้าลงทุน ไม่ร่อยกล้าใช้จ่าย
อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0% ในขณะที่ธนาคารกลางเริ่มใช้มาตรการ QE แบบจัดหนักด้วยการพิมพ์เงินและเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
“เป็นช่วงที่นักลงทุนขายสินทรัพย์ทางการเงินชนิดหนึ่ง แล้วเอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่น” สิ่งที่เกิดขึ้นคือราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด
คล้ายๆกับช่วงปี 1932-1937 เป็นช่วงที่สินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจริงๆมันควรจะเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมครับ? สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่รวยยิ่งรวยมากขึ้น และนั่นทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามมา
และยิ่งเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปมากเท่าไหร่ และการทำธุรกิจเป็นแบบโลภาภิวัฒน์ มากเท่าไหร่
ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมามากเท่านั้น
ในช่วงนี้จะเห็นเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูก แล้วก็ยิ่งเห็นคนรวย รวยมากขึ้นไปอีก
หลังจากนั้นก็เจอช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลงพร้อมๆกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ตลาดหุ้นก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น เกิดจากการที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศลดอัตราดอกเบี้ยลง)
ในขณะเดียวกันเอกชนเริ่มใช้ระบบเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมากขึ้นทำให้ค่าแรงของแรงงานเพิ่มช้ามาก ยังไม่นับผลบวกจากการที่รัฐบาลต่างๆลดภาษีนิติบุคคล
ทำให้บริษัทเอกชนก็มีอัตราการทำกำไรที่สูงมากขึ้น แต่ก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำ (เพราะค่าแรงของแรงงานไม่เพิ่มขึ้นมากนัก)
ปัญหาที่ถือว่าหนักหน่วงมากๆคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละประเทศแต่นั่นก็นำไปสู่การใช้ในโยบายประชานิยมของรัฐบาลต่างๆซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก
========
16. ตอนนี้ละเป็นอย่างไร
“สินทรัพย์ทางการเงินต่างๆนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากแต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำครับ”
เฮีย Ray Dalio มองว่า สถานการณ์การลงทุนในช่วง 2008-2009 เป็นการเปลี่ยนแปลงของวงจรการลงทุนรอบล่าสุด ซึ่งละม้าย คล้ายคลึงกับช่วงปี 1929-1932
“ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เจอความไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินที่เพิ่มมากขึ้น”
การที่เราเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ และวงจรการลงทุน จะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลงครับ
แล้วอนาคนอันใกล้นี้ละ เฮีย Ray Dalio มองว่าเป็นวงจรแบบไหน อะไรคือสิ่งที่เราต้องตั้งรับบ้าง รอติดตามอ่านในครั้งหน้านะครับ ครั้งนี้ยาวไปแล้ววววว
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน ลงทุนมีความสุขครับ นี่คือ “ถามอีก กับอิก” 🙂
========
ตอนนี้เรากำลังยกเลิกการส่งไลน์แอด และไปส่งผ่าน Telegram ถ้าไม่อยากพลาดข้อมูลและแนวคิดดีๆ แอดมาโลดเด้อ https://t.me/TAM_EIG