สรุป Opp Day JKN (บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย) สำหรับ Q3-2561
Facebook: ถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน
By บรรพต ธนาเพิ่มสุข ที่ปรึกษาการเงิน AFPT TM
=========================
ใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับหุ้นตัวนี้ มาเริ่มต้นดูประวัติของอาณาจักร JKN กันก่อน แต่ถ้าใครเป็นเจ้าเก่าก็ข้ามไปอ่านอัพเดตด้านล่างได้เลยครับ:

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
จัดตั้งขึ้นในปี 2013 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตอนนั้นทำธุรกิจเอาคอนเทนต์จากทั่วโลกมาจำหน่ายในประเทศไทย
2014: ลงทุนใน JKN Channel และบริหารช่อง JKN Dramax (นำเสนอซีรีย์ ของบริษัท JKN เกือบทั้งหมด), JKN News, JKN Knowledge ออกอากาศทางเคเบิลทีวี
2015: ลงทุนใน JKN IMC (เดิมคือ JKN Broadcast) ซึ่งเป็นปีที่ทีวีดิจิตอลได้เกิดขึ้นในไทย (เป็นโอกาสของ JKN เพราะจำนวนช่องทีวีเพิ่มมากขึ้น)
2016: JKN Global ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของช่อง CNBC เพื่อจัดทำช่อง CNBC ข่าวด้านธุรกิจ
2017: JKN ได้จดทะเบียนในตลาด mai วันที่ 30 พ.ย. 2560 โดยมีรายได้มากกว่า 1 พันล้านบาท
2018: เริ่มเป็นบริษัทระดับโลก โดย JKN ได้รับเป็นผู้จัดจำหน่ายซีรีย์และละครของช่อง 3 เพียงเจ้าเดียว และส่งออกไปขายทั่วโลก ยกเว้น จีน มาเก๊า เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าซีรีย์อินเดีย เข้ามาขายในไทย
ปัจจุบัน มี Market Cap: 5.9 พันล้านบาท (ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2561)
=========================
มาดูภาพรวมบริษัทในเครือ JKN ครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
1) JKN Channel: สถานีโทรทัศน์ในระบบเคเบิล ดาวเทียม ชื่อ JKN Dramax
2) JKN IMC: ตัวแทนจัดจำหน่ายเวลาโฆษณาให้กับช่องสถานี (ยังไม่เริ่มกิจการ)
3) JKN News: ทำเกี่ยวกับช่องข่าว คือ CNBC Thailand (ยังไม่เริ่มกิจการ)
4) JKN Knowledge: จัดสัมมนา อบรมด้านการเงินการลงทุน (ยังไม่เริ่มกิจการ)
=========================
ว่าแต่ว่า… JKN เค้าทำธุรกิจอะไรนะ?
เล่าสั้นๆว่า JKN เค้าเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ content ระดับสากล แบบผูกขาด โดยออกอากาศผ่าน 7 ช่องทางด้วยกันครับ
1) Digital TV (เป็นช่องทางที่มีราคาขายสูงที่สุด และทำกำไรได้สูงสุด ขึ้นอยู่กับความฮิตของคอนเทนต์ด้วยครับ)
2) เคเบิลและทีวีดาวเทียม
3) Home Entertainment: DVD, box set
4) Video on demand: เผยแพร่เนื้อหาผ่านทางอินเตอร์เนต
5) การขายสินค้า: เสื้อผ้า
6) สื่อสิ่งพิมพ์: นิตยสาร หรือหนังสือ
7) Ancillary สื่อบริการผ่านยานพาหนะอื่นๆ: ฉายบนเครื่องบิน รถทัวร์หรือยานพาหนะต่างๆ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
“เรามีหน้าที่ในการนำเข้า Content ต่างประเทศ” คุณธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี ผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี JKN บอกครับ
แต่ไม่ได้นำเข้ามาอย่างเดียวนะครับ JKN เค้าจะทำการพากย์ การแปล ให้คนไทยได้เสพซีรีย์อย่างเต็มอิ่มครับ (JKN เรียกกระบวนนี้ว่า localization) แต่ไม่ใช่แค่การพากย์เสียง และการแปลเฉย ๆ ครับ ต้องมีการเกลาบทอีกทีนึง โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ตรงกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษามากที่สุดครับ
ผู้บริหารเสริมว่า “หลังจากที่ผ่านกระบวนการ localization แล้ว ก็จะส่งให้กับลูกค้าผ่าน ทั้ง 7 แพลตฟอร์มนั้นครับ” “โดยแพลตฟอร์มหลักตอนนี้คือ Digital TV”
=========================
คอนเทนต์หลักๆที่ JKN บุกตลาดเต็มที่ มี 8 กลุ่ม
(หลายคนน่าจะเป็นแฟนคลับอยู่นะครับ)
ลูกค้ารายใหญ่ๆ Big Name ทั้งนั้นนะครับ ทั้ง ช่อง 3, ช่อง 8 , ไทยรัฐ, ช่อง 5 (ลูกค้ารายใหญ่รายใหม่ของ JKN โดยจัดหาซีรีย์อินเดียไปลงในช่วง Prime Time), ไบรท์ทีวี, Mono29, Boomerang, United Home Entertainment, Catalyst Alliance

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
ส่วนคอนเทนต์หลักๆแบ่งเป็น 8 กลุ่มครับ
1) JKN originals: คอนเทนต์ที่ทาง JKN ทำขึ้นมาเองเช่น สารคดีต่างๆ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ (My King, My Queen)
2) Asian Fantasy: ซีรีย์จากต่างประเทศเช่น อินเดีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน
3) Hollywood Hit: ซีรีย์จาก Hollywood เช่น CSI, walking dead
4) I Magic the Project: สารคดีทั้งจาก National Geographic, History Channel
5) Kids Inspired: การ์ตูนของทาง Marvel
6) Music Star Parade: รายการที่เกี่ยวกับเพลงทั้งหมด (รวมถึง คอนเสิร์ต)
7) News: ข่าวเช่น First Class และปีหน้าน่าจะเห็นรายการของ CNBC ออกอากาศมากขึ้น (มีสตูดิโอ ออกอากาศในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า 2562 และรับรู้รายได้เข้ามาทันที)
8) Super Show: รายการโชว์จากต่างประเทศและผลิตเองบางส่วนเช่น รายการแอนโชว์
ส่วนข้างล่างนี้คือตัวอย่างซีรีย์ ที่ฮิตแบบสุดๆ ครับ เช่น มหากาลี, พระพิฆเนศ, วัลลภมหาราช อาลาดิน, walking dead, CSI

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
=========================
มีของดี ยังไงก็ต้องทำการตลาดแบบจัดเต็ม
1) จัดงาน Event เพื่อประชาสัมพันธ์ซีรีย์ให้มากขึ้น โดยเชิญดาราอินเดียมาให้คนไทยได้ใกล้ชิด
The leader (ร่วมกับช่อง 8), The Trendsetter (ร่วมกับ Bright TV), Phenomenon และ The Entertainer (ร่วมกับช่อง 3), The influencer (ร่วมกับ JKN Dramax)

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
2) JKN จัด Mega showcase จะแสดงให้เห็น content ใหม่ๆ ของทุกๆปีที่จะนำมาฉายในไทย และเริ่มขยายธุรกิจไปยังประเทศใน CLMV

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
3) ระหว่างปี จะมีการทำ Superstar marketing ต่อเนื่อง: ให้ศิลปินเป็นคนทำการตลาดด้วยตัวเอง พร้อมทั้งดึงศิลปินนักร้องในไทยมากมาย เช่นใหม่ เจริญปุระ, เบน ชลาทิศ และแคทรียา อิงลิช มาขับร้องเพลงประกอบซีรีย์อินเดีย เช่น นาคิน
=========================
เริ่มเข้าใจภาพรวมธุรกิจ JKN แล้วนะครับ ชวนมาดูผลการดำเนินงาน
“เป็นปีแรกที่เราได้รับ CGR Score 4 ดาว เพราะเพิ่งเข้าตลาดมาปีแรก ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การบริหารงาน” “ในส่วน AGM check list ก็ดีมาก”

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
รายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2561: 1,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21.2%
ช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 2014-2017 มีอัตราการเติบโต CAGR 56% (เติบโตโหดมากๆครับ)
Backlog ล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2561: 335 ล้านบาท
“เป้าหมายของเรายังอยู่ที่ 15-20%” ผู้บริหารบอกด้วยความมุ่งมั่นครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
สัดส่วนรายได้ของ JKN มาจากอะไรบ้างครับ?:
1) มาจากการขายคอนเทนต์: 92%
2) การขายโฆษณา: 4%
3) การขายผลิตภัณฑ์: 5%
ผู้บริหารชี้ให้เห็นว่า แพลตฟอร์มที่ลูกค้ารับชมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากที่เราเคยใช้ CD, DVD เทป กระทั่งปัจจุบันนี้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ และทีวีดิจิตอล
“แต่ไม่ว่าลูกค้าจะรับชมจากช่องทางใด ในส่วนของ JKN ก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา เพราะเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์ม” คุณธีรภัทร์ เสริมให้ความมั่นใจกับนักลงทุนครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้แบ่งตามช่องทาง ตามนี้เลยครับ:
1) เคเบิลและทีวีดาวเทียม: 84 ล้านบาท
2) ทีวีดิจิตอล: 543 ล้านบาท (รวมถึงการให้สิทธิในช่องทาง ทีวีดิจิตอล ร่วมกันช่องทางอื่น) เติบโตหนักมาก เพิ่มขึ้น 65% เพราะได้รับความนิยมและเพิ่มเวลาในการฉายซีรีย์ และมีรายได้จากการส่งออกที่เติบโตอย่างมาก (มองว่า สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ในปีนี้ และเพิ่มสัดส่วนเป็น 30-35% ของรายได้รวมในปีหน้า แต่ระยะยาวมองว่าจะเพิ่มเป็น 50%)
“เราตั้งเป้าเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ระดับสากล ทำให้มองว่า จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออก” ผู้บริหารให้เหตุผลในเชิงกลยุทธ์ครับ
3) Video on demand: 179 ล้านบาท
ข้อสังเกตคือ ไม่มีรายได้จาก Home entertainment เลยครับ เนื่องจากการขาย DVD เป็นขาลง ทำให้ลูกค้าปรับตัวไปทำธุรกิจ Video on demand และอินเตอร์เน็ต
=========================
ดูรายได้ไปแล้วมาเจาะลึกค่าใช้จ่ายกันครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
9 เดือนแรกของปีนี้มีค่าใช้จ่าย 780 ล้านบาท หลักๆเป็นค่าอะไรบ้าง
ต้นทุนคอนเทนต์ที่ซื้อมา : 77%
สัดส่วนสื่อโฆษณา: 3%
Cost of good sold: 2%
SG&A: 18% ของค่าใช้จ่ายรวม
=========================
หัวใจหลักของ JKN คือ คอนเทนต์
“JKN ลงทุนซื้อคอนเทนต์เพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา” สะท้อนให้เห็นว่า JKN เดินเกมรุกเต็มที่ครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
ในปี 2014: ลงทุน 296 ล้านบาท
2015: 340 ล้านบาท
2016: 965 ล้านบาท
2017: 777 ล้านบาท
2018: ตอนนี้ 9 เดือนแรกของปีนี้ JKN จัดหนักลงทุนไปแล้วกว่า 601 ล้านบาท โดยยังคงยึดเป้าหมายเดิมว่าจะลงทุน 750-800 ล้านบาท
“งบลงทุน CNBC จะน้อยกว่าที่คาดไว้ตอนแรก เบื้องต้นมองว่าน่าจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท” เช่น ค่าก่อสร้าง, ค่าตกแต่งสตูดิโอ
สำหรับการตัดค่าใช้จ่าย Amortization เองก็สำคัญครับ
ในปีที่แล้ว 616 ล้านบาท
9 เดือนแรกของปีนี้ ตัดไปแล้ว 561 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 26% โดยในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปีหน้าจะเห็นตัวเลขการจัดจำหน่ายน้อยลง
“สำหรับปีหน้า ยังมองว่าจะมีการลงทุนซื้อคอนเทนต์ 800 ล้านบาทเหมือนกัน” “เพราะฉะนั้นการตัด Amortization จะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ซึ่งหากขายได้มากขึ้นก็จะทำให้ margin เพิ่มขึ้น”
=========================
ธุรกิจเติบโตดี มาดูตัวเลขทางการเงินแบบชัดๆ กันครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
“สำหรับ 9 เดือนแรก เรามีกำไรขั้นต้น 414 ล้านบาท” “อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 40%” “สำหรับปีนี้มองอยู่ที่ 40-42%” ผู้บริหารคาดการณ์ครับ โดยพยายามรักษาอัตราทำกำไรให้ใกล้เคียงปีที่แล้ว
“สำหรับกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 181 ล้านบาท เติบโต 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” ถือว่าเป็นตัวเลขเติบโตโดดเด่นนะครับ เพราะกำไรทั้งปีของปีที่แล้วอยู่ที่ 188 ล้านบาท ในขณะที่อัตราทำกำไรสุทธิ (NPM) ดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 17.2%
ROE: 12.1% (ลดลงบ้าง เพราะปี 2017 มีการเพิ่มทุนจากการ IPO)
ROA: 8.2%

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
ส่วนตัวเลขอื่นๆดีขึ้นหมดครับ สถานะทางการเงินแข็งแรงขึ้น
Current Ratio: 2.33 เท่า เป็นตัวเลขที่ดีขึ้นเพราะมีการเอาเงินสดไปคืนภาระหนี้สินบางส่วน
Intangible Asset Turnover: 1.06 เท่า
Liability: 931 ล้านบาท
D/E: 0.46 เท่า

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
สำหรับลูกหนี้การค้า รวม 1,013 ล้านบาท
ยังมีค้างจ่ายระหว่าง 6-12 เดือน อยู่ที่ 212 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถเก็บเงินได้มาแล้ว 140 ล้านบาท (คาดการณ์ว่า จะเก็บได้หมดภายในสิ้นเดือน ธันวาคม) ผู้บริหารคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
แต่ไตรมาสที่ 3 ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ ประมาณ 6 ล้านบาท เนื่องจากเป็นลูกค้าจาก JKN Channel มองว่าน่าจะได้รับชำระในเดือนธันวาคม
“แต่ผู้บริหารไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ตอนนี้พยายามลดระยะเวลาในการชำระหนี้ของลูกค้า และอาจจะมีการเก็บเงินมัดจำบางส่วน โดยคิดว่าช่วงไตรมาสที่ 2 ปีหน้า จะเห็นลูกหนี้การค้าอยู่ในจุดที่เหมาะสมได้”
=========================
อนาคต JKN ยังคงเดินเกมรุกเต็มที่ เน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
“ปีนี้จะเห็นว่ามีการส่งออก ซีรีย์จากอินเดีย และฟิลิปปปินส์มากขึ้น” ตอนนี้คิดเป็นมูลค่า 177 ล้านบาท
ตลาดที่ JKN เน้นขายหลักๆคือ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และไตรมาสที่ 4 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายในมาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าต่างประเทศกว่า 30 ราย
ผู้บริหารมองว่า “ปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ดี เพราะตอนต้นปีเราตั้งเป้าว่าจะส่งขายได้ 120 ล้านบาท”

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
อีกหนึ่งจุดที่สำคัญ คือ การเป็นพันธมิตรกับช่อง 3
โดยการนำคอนเทนต์จากช่อง 3 ไปฉายในฟิลิปปินส์ ผู้บริหารมองว่า นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายประเทศ (พยายามปิดดีลให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ภายในต้นปีหน้า)
“จะเริ่มรับรู้รายได้จากช่อง 3 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยค่าใช้จ่ายไม่ค่อยเยอะส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อขายของเท่านั้น”
และยังอยู่ระหว่างการเดินสายในต่างประเทศมีหลายแห่ง เพื่อนำสินค้ามาขาย โดยเน้นสินค้าจากช่อง 3 และอินเดียครับ เช่น ฮ่องกง, เวียดนาม, สิงคโปร์
“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเริ่มออกไปทำการตลาดในต่างประเทศ แต่ปีหน้าเราจะเริ่มกระจายไปประเทศต่างๆ สหรัฐ ละตินอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น” รุกหนักจริงๆครับ

ที่มา: JKN presentation พฤศจิกายน 2561
ตอนแรกเรามีแผนต้องเลื่อนการออกอากาศจากเดิม มกราคม 2562 เป็นไตรมาสที่ 2 เพราะจะต้องมีการเทรน จาก CNBC โดยมองว่าจะใช้เวลาในการเทรนประมาณ 2-3 เดือน
=========================
JKN ยังคงเป้าหมาย ว่ารายได้จะเติบโต 15-20%
JKN ยังมั่นใจว่าจะทำตามเป้าหมายได้ครับที่เติบโต 15-20% จากปีที่แล้ว จากความสำเร็จของกระแสซีรี่ย์อินเดีย-ฟิลิปปินส์ได้รับความนิยมมาก ทำให้ JKN สามารถจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น
คาดว่าปีนี้จะสามารถปิดสัญญาการขายในปีนี้จากตลาดต่างประเทศประมาณ 300 ล้านบาทได้ตามเป้า (ตอนนี้มีสัญญาในการขายซีรีย์อินเดียและฟิลลิปปินส์ 7.2 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านเหรียญ)
โดยสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นสัดส่วน 50% ในช่วง 5 ปีนี้
และในปีหน้าวางเป้าหมายเติบโต 15% ยังไม่ได้นับรวมการรับรู้รายได้จาก JKN CNBC
=========================
ปล. ทางผู้บริหารมีการขายหุ้นบางส่วนให้กับคุณหมอเฉลิม
ปล.2 ทางผู้บริหารยืนยันว่า บริษัทไม่ได้สนใจจะเข้าไปทำช่องทีวีให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อทดแทนช่อง Money Channel เพราะถือว่าดีลที่เคยเจรจาเข้าซื้อหุ้นจบไปแล้ว
=========================
ไม่อยากพลาด! Add [email protected]ไว้นะครับ
https://line.me/ti/p/%40Tam-eig