สรุป Opp Day JKN (บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย) สำหรับ Q2-2561
Facebook: ถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน
By บรรพต ธนาเพิ่มสุข ที่ปรึกษาการเงิน AFPT TM
=========================
JKN ไฮไลท์:
- ครึ่งปีแรกของปีนี้ มี Gross Profit Margin 41.5%
- กำไรเพิ่มขึ้น 68%
- JKN มีอัตรากำไรสุทธิ 9%
- Backlog อยู่ที่ 292 ล้านบาท
- ละครไทยของช่อง 3: JKN นำไปขายต่างประเทศ ที่ฟิลิปปินส์ประเทศเดียวคาดว่า 100 ล้านบาท ปิดการขายได้แล้ว 1 ช่อง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 2 ช่อง
- ประโยคเด็ดจากผู้บริหาร “การทำงานควรทำงานด้วยแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แรงจูงใจ การทำงานด้วยแรงบันดาลใจ จะทำให้เราทำผลงานได้ดี เพราะมุ่งเน้นแต่การทำงาน ในท้ายที่สุดผลตอบแทนจะกลับมาเอง”คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ CEO
=========================
มาดูประวัติของ JKN กันซักนิดครับ:
จัดตั้งขึ้นในปี 2013 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตอนนั้นทำธุรกิจเอาคอนเทนต์จากทั่วโลกมาจำหน่ายในประเทศไทย
ปี 2014: ลงทุนใน JKN Channel และบริหารช่อง JKN Dramax (นำเสนอซีรีย์ ของบริษัท JKN เกือบทั้งหมด), JKN News และ JKN Knowledge
ปี 2015: ลงทุนใน JKN IMC (เดิมคือ JKN Broadcast) ซึ่งเป็นปีที่ทีวีดิจิตอลได้เกิดขึ้นในไทย (เป็นโอกาสของ JKN เพราะจำนวนช่องทีวีเพิ่มมากขึ้น)
ปี 2016: JKN Global ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของช่อง CNBC
ปี 2017: JKN ได้จดทะเบียนในตลาด mai วันที่ 30 พ.ย. 2560 โดยมีรายได้มากกว่า 1 พันล้านบาท
ปี 2018: ได้รับเป็นผู้จัดจำหน่ายซีรีย์และละครของช่อง 3 เพียงเจ้าเดียว ที่สามารถส่งออกไปขายทั่วโลก ยกเว้น จีน มาเก๊า เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา
ปัจจุบัน มี Market Cap: 6.26 พันล้านบาท (ณ วันที่ 20 กันยายน 2561)
=========================
ว่าแต่ว่า… JKN เค้าทำธุรกิจอะไรนะ?
เล่าสั้นๆว่า JKN เค้าเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ content ระดับสากล ในหลายช่องทางครับ
1) Digital TV
2) เคเบิลและทีวีดาวเทียม
3) Home Entertainment: DVD, box set
4) Video on demand ฉายผ่านทางอินเตอร์เน็ต
5) การขายสินค้า: เสื้อผ้า
6) สื่อสิ่งพิมพ์: นิตยสาร หรือหนังสือ
7) Ancillary: ฉายบนเครื่องบิน รถทัวร์หรือยานพาหนะต่างๆ
“ใครต้องการเอาซีรีย์ ไปฉายช่องทางไหน ก็ต้องมาเจรจาในแต่ละช่องทาง” ผู้บริหารบอกครับ
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าลูกค้ามาซื้อลิขสิทธิ์สำหรับการออกอากาศทางทีวี ก็ออกได้เฉพาะช่องทางนี้เท่านั้นครับ ถ้าเค้าอยากนำไปออกทางอินเตอร์เน็ต เค้าต้องมาซื้อลิขสิทธิ์เพิ่ม (ช่วยเพิ่มรายได้อีกเยอะเลยครับ)
ผู้บริหารอธิบายต่อว่า “เราติดต่อ production house หรือเจ้าของช่องสถานีต่างๆ ที่เค้ามีสิทธิทั่วโลก โดยขอเป็น sole distributor หรือผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย”
“การที่ซีรีย์ที่มาจากอินเดีย หรือฟิลิปปินส์ บูมในไทย ทาง JKN ก็จะได้ประโยชน์เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์รายใหญ่ของโลกเป็นพันธมิตรกับ JKN หมดแล้ว”

=========================
หลังจากที่ JKN ได้รับสิทธิจัดจำหน่ายมาแล้ว เค้าไม่ได้เอาฉายเลยทันทีนะครับ
“แต่ต้องผ่านกระบวนการ Localization ก่อน” ผู้บริหารขยายความต่ออีกว่า การทำ Localization ไม่ใช่แค่การพากย์เสียง และการแปลเฉยๆ นะครับ แต่ต้องมีการเกลาบทอีกทีนึงโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ตรงกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษามากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการทำเพลงประกอบละครภาษาไทย เพราะมองว่าเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความใกล้ชิดกับคนดูได้มากขึ้น
=========================
ถ้าถามว่า คอนเทนต์ประเภทไหนที่ JKN สนใจ ก็มีเยอะครับ พวกเราน่าจะเคยดูมาบ้างแล้ว
คอนเทนต์หลักๆแบ่งเป็น 8 กลุ่มครับ
1) JKN originals: คอนเทนต์ที่ทาง JKN ทำขึ้นมาเองเช่น สารคดีต่างๆ (My King, My Queen)
2) Asian Fantasy: ซีรีย์อินเดีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน
3) Hollywood Hit: ซีรีย์จาก Hollywood เช่น CSI, walking dead
4) I Magic the Project: สารคดีทั้งจาก National Geographic, History Channel
5) Kids Inspired: การ์ตูนของทาง Marvel
6) Music Star Parade: รายการที่เกี่ยวกับเพลงทั้งหมด
7) News: ข่าวเช่น First Class และปีหน้าน่าจะเห็นรายการของ CNBC ออกอากาศมากขึ้น
8) Super Show: รายการโชว์จากต่างประเทศและผลิตเองบางส่วนเช่น รายการแอนโชว์
=========================
กลยุทธ์การตลาดแบบจัดหนักจัดเต็ม:


1) จัดงาน Event เพื่อประชาสัมพันธ์ซีรีย์ให้มากขึ้น โดยเชิญดาราอินเดียมาให้คนไทยได้ใกล้ชิด
The leader (ร่วมกับช่อง 8), The Trendsetter (ร่วมกับ Bright TV), Phenomenon และ The Entertainer (ร่วมกับช่อง 3), The influencer (ร่วมกับ JKN Dramax)
2) JKN จัด Mega showcase จะแสดงให้เห็น content ใหม่ๆ ของทุกๆปีที่จะนำมาฉายในไทย และเริ่มขยายธุรกิจไปยังประเทศใน CLMV
3) ระหว่างปี จะมีการทำ Superstar marketing ต่อเนื่อง: ให้ศิลปินเป็นคนทำการตลาดด้วยตัวเอง พร้อมทั้งดึงศิลปินนักร้องในไทยมากมาย อาทิ ใหม่ เจริญปุระ, เบน ชลาทิศ และแคทรียา อิงลิช มาขับร้องเพลงประกอบซีรีย์อินเดีย เช่น นาคิน

=========================
เริ่มเข้าใจการทำธุรกิจของ JKN แล้วมาดูผลประกอบการครึ่งปีแรกครับ
รายได้ครึ่งปีแรกของปีนี้: 698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.9% จากปี 2017
ช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 2014-2017 มีอัตราการเติบโต CAGR 56% (เติบโตโหดมากๆครับ)
โครงสร้างรายได้ของ JKN:
1) มาจากการขายคอนเทนต์: 89%
2) การขายโฆษณา: 4%
3) การขายผลิตภัณฑ์: 5%
“ตอนนี้เรายังมี backlog อยู่ที่ 292 ล้านบาท” ผู้บริหารพูดอย่างภูมิใจครับ
โครงสร้างรายได้ในครึ่งปีแรกของปีนี้ แบ่งตามช่องทาง
1) เคเบิลและทีวีดาวเทียม: 85 ล้านบาท
2) ทีวีดิจิตอล: 247 ล้านบาท (ทั้งปีที่แล้วมีรายได้ 351 ล้านบาท) เติบโตมากเพราะได้รับความนิยมและเพิ่มเวลาในการฉายซีรีย์
3) Video on demand: 111 ล้านบาท
4) สิทธิทีวิดิจิตอลและเคเบิล ทีวีดาวเทียม: 125 ล้านบาท
5) สิทธิเคเบิล ทีวีดาวเทียมและ Video on demand: 36 ล้านบาท
ข้อสังเกตคือ ไม่มีรายได้ในครึ่งปีแรกจาก Home entertainment เลยครับ เนื่องจากการขาย DVD เป็นขาลง ทำให้ลูกค้าปรับตัวไปทำธุรกิจ Video on demand และอินเตอร์เน็ต (แต่ก็ยังไม่ได้หายไปทั้งหมด เพราะรอจังหวะเวลาให้ฉายซีรีย์ ในช่องทางทีวีดิจิตอลไปก่อนแล้วค่อย มาทำ DVD)
=========================
ดูรายได้ไปแล้วมาเจาะลึกค่าใช้จ่ายกันครับ

ครึ่งปีแรกของปีนี้มีค่าใช้จ่าย 487 ล้านบาท แบ่งรายละเอียดดังนี้ครับ
หลักๆ ค่าใช้จ่ายสัดส่วน 76% คือ ต้นทุนคอนเทนต์
สัดส่วนสื่อโฆษณา 4%
SG&A อยู่ที่ 18%
แต่ถ้าเทียบค่าใช้จ่าย กับรายได้ทั้งหมดจะเห็นภาพชัดขึ้นครับ
ต้นทุนคอนเทนต์: 53%
ต้นทุนสื่อโฆษณา: 2%
ต้นทุน Selling: 3% (เช่น การจัดงาน event และการทำการตลาด)
ต้นทุน Admin: 10% ค่าใช้จ่ายการบริหาร
=========================
เทียบให้เห็นชัดๆว่า ตัวเลขทางการเงินเป็นอย่างไร?
“ครึ่งปีแรกของปีนี้ เรามี Gross Profit Margin 41.5%” “ในขณะที่มีกำไรเพิ่มขึ้น 68%” “JKN มีอัตรากำไรสุทธิ 19.9%” นี่เป็นไฮไลท์สำหรับตัวเลขทางการเงินครับ
ส่วนคำอธิบายที่บอกว่า ทำไม ROE เคยอยุ่ระดับ 50% ในปี 2014 แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 14.7% เหตุผลที่อธิบายได้คือ บริษัทยังไม่ได้จ่ายเงินปันผลและได้ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ ดีขึ้นหมดครับ เช่น current ratio: 1.37 เท่า, D/E ก็ลดลง จาก 0.7x ตอนนี้อยู่ที่ 0.44x

“JKN ลงทุนซื้อคอนเทนต์เพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา” สะท้อนให้เห็นว่า JKN เดินเกมรุกเต็มที่ครับ เงินลงทุนในแต่ละปี
ปี 2014: 296 ล้านบาท
ปี 2015: 340 ล้านบาท
ปี 2016: 965 ล้านบาท
ปี 2017: 777 ล้านบาท
ปี 2018: ตอนนี้ครึ่งปีแรกลงทุนไปแล้วกว่า 495 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะลงทุน 800 ล้านบาท
ปัจจุบันมี Net book value ทั้งหมด 1,326 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายการลงทุน 2018 เป็นตัวเลขที่ต้องติดตามครับ
ค่าลิขสิทธิ์: 800 ล้านบาท
CNBC News channel: 125 ล้านบาท
Content & Broadcast system: 50 ล้านบาท (เพื่อรักษาคุณภาพของคอนเทนต์ เช่น การปรับปรุงซอฟท์แวร์ ERP และระบบบริหารจัดการคอนเทนต์)

สำหรับลูกหนี้การค้า ยังมีค้างจ่ายระหว่าง 6-12 เดือน อยู่ที่ 253 ล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถเก็บเงินได้มาแล้ว 170 ล้านบาท (คาดการณ์ว่า สิ้นไตรมาสที่ 3 เราจะเก็บเงินให้หมด)
คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ CEO ผู้บริหารคนเก่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า JKN มีกลยุทธ์ในการเก็บเงินลูกค้า พร้อมๆ กับการอะลุ่มอล่วย ให้ลูกค้าสามารถทำการค้าร่วมกันได้ (แต่ถ้าไม่จ่ายเงินตามกำหนด ก็จะไม่ส่งเทปให้ ทำให้ลูกค้าอาจจะเจอปัญหาการฉายตอนต่อไป)
โดยมองว่า อาจจะขยายระยะเวลาในการชำระเงินให้กับลูกค้าที่ซื้อเยอะๆ ระดับ 200-300 ล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
=========================
ยอดขายในต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ครึ่งปีแรก ขายไปมันส์มาก” คุณแอนเปิดประเด็นยอดขายในต่างประเทศ หลักๆ แล้วเป็นการเอาลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครไทยจากช่อง 3 ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2556 เอาไปขาย เช่น บุพเพสันนิวาส, สามีตีตรา และนาคี
“ที่ฟิลิปปินส์เองขายได้ประเทศเดียวก็คาดว่า 100 ล้านบาท ปิดการขายได้แล้ว 1 ช่อง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 2 ช่อง”

นอกจากนี้ตลาดมาเลเซียเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ ส่วนอินโดนีเซีย, ละตินอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงเจรจา (กำลังจองช่วงเวลาที่จะฉายซีรีย์ไทยในต่างประเทศ)
สำหรับการรับรู้รายได้จะเป็นช่วงที่ส่งมอบให้กับลูกค้า โดยจะมีตารางในส่งมอบสินค้าและการชำระเงินต้องมีความชัดเจน (โดย JKN จะรับรู้รายได้ 30% แต่ BEC รับรู้รายได้ 70%)

“ต่อไป ตลาดต่างประเทศอาจจะมีรายได้มากกว่าในไทย” คุณแอนเล่าให้ฟังด้วยความมั่นใจครับ “ตลาดไทยมีแค่ 65 ล้านคน แต่ตอนนี้ตลาดต่างประเทศเป็นตลาด Blue Ocean เพราะละครไทยยังไม่ได้ไปต่างประเทศเลย เพราะฉะนั้นตลาดนี้ไปได้ไกลมาก”
สำหรับ CNBC ตอนนี้มีรายการ First Class โดยปีนี้จะเปิดตัวอีกสองรายการ Managing Asia, CNBC Conversation
โดยในปีนี้มีรายได้ประจำจากบางช่อง เดือนละ 1 ล้านบาท พอรวมกันหลายๆ ช่องก็เท่ากับค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไปแล้ว
=========================
แอบส่องดูเป้าหมายของ JKN กันครับ
JKN ยังมั่นใจว่าจะทำตามเป้าหมายได้ครับที่เติบโต 20% จากปีที่แล้ว (ตอนนี้มีบริษัทมหาชนบางราย ชวน JKN ทำ Entertainment complex แบบ joint venture)
และตั้งเป้ารายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ 300 ล้านบาท
ส่วนปีหน้าตั้งเป้ารายได้โต 15% โดยสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นสัดส่วน 50% ในช่วง 5 ปีนี้
นอกจากนี้ยังแผนสร้างซีรีย์ “สยามรามเกียรติ์” ซึ่ง JKN จะเป็นเจ้าของโปรเจคใช้งบลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท (คาดว่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 15%)
เป็นความร่วมมือกับอินเดียให้ผลิตซีรีย์ซึ่งจะใช้ดาราทั้งในประเทศและในอินเดีย โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มออกอากาศได้ช่วงปี 2563
=========================
คำถามทิ้งท้าย:
คำถาม: แนวโน้มซีรีย์อินเดียเป็นอย่างไร?
คำตอบ: ดีตลอดกาล ตลอดไป เพราะเราคือประเทศที่รับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย
คำถาม: จะจ่ายเงินปันผลหรือไม่?
คำตอบ: JKN มีแผนว่าจะจ่ายเงินปันผลในปีหน้า โดยจะจ่าย 1 ครั้ง ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
คำถาม: เม็ดเงินโฆษณาเติบโตต่ำมากมีผลกระทบต่อราคาคอนเทนต์หรือไม่
คำตอบ: ไม่มี ตอนนี้แพงขึ้นเรื่อยๆ บางตอน 7.5 แสนบาท (เพิ่มขึ้นจากราคาขาย 1.5-2.5 แสนบาท ต่อตอน) และเรื่องใหม่มากกว่านี้ 4 เท่า แต่ขึ้นอยู่กับเรตติ้งของช่องด้วย แต่เป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ช่องเค้าจะผลิตคอนเทนต์เอง
=========================
สิ่งนึงที่ผมชอบ คือการสอดแทรกแนวคิดการทำงาน ในระหว่างให้ข้อมูลครับ คุณแอน ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “การทำงานควรทำงานด้วยแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แรงจูงใจ”
“การทำงานด้วยแรงบันดาลใจ จะทำให้เราทำผลงานได้ดี เพราะมุ่งเน้นแต่การทำงาน ในท้ายที่สุดผลตอบแทนจะกลับมาเอง”
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน ลงทุนมีความสุขครับ 🙂
=========================
ไม่อยากพลาด! Add [email protected]ไว้นะครับ
https://line.me/ti/p/%40Tam-eig