“ผมกับน้องชายนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินเกษตร”
“ผมอยากทำธุรกิจที่จะช่วยให้ชีวิตของใครบางคนดีขึ้น ไม่มากก็น้อย”
เป็นคำพูดสั้นๆที่ทรงพลังมากครับ… แค่นี้ก็ทำให้ผมสนใจวิธีคิดของผู้ชายที่ชื่อว่า คุณพอท มิตรดนัย สถาวรมณี แล้ว
==============
คุณพอทเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่สร้างชื่อจากการสร้างฟาร์มเกษตรสไตล์ญี่ปุ่น“CORO Field”ที่สวนผึ้งจังหวัดราชบุรี จากการต่อยอดธุรกิจครอบครัวที่ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์
“ข้อดีของการได้สัมผัสชีวิตของพี่น้องเกษตร คือทำให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ทำให้เข้าใจความรู้สึกของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติครับ”
“ชีวิตของใครบางคนที่ผม อยากทำให้ดีขึ้น ก็คือพี่น้องเกษตรกร เนี่ยละครับ” คุณพอทพูดเสริมด้วยสายตามุ่งมั่น
==============
ผมนัดเจอกับคุณพอท ที่ร้านขนมหวานแห่งใหม่ที่ปั้นมากับมือ
“ผมให้นิยามร้าน CORO Field Dessert นี้ว่า เป็น Fresh Farm Dessert for CORO Field Farm”
แปลง่ายๆคือ เป็นร้านขนมหวานที่มีวัตถุดิบคุณภาพดีและสด ส่งตรงมาจากฟาร์ม CORO Field มาเสิร์ฟความอร่อยถึงใจกลางกรุงเทพมหานครครับ
ที่นี่เมนูหลักๆทำมาจาก 2 อย่าง อย่างแรกคือเป็น โทมิเมล่อน เป็นเมล่อนสีเขียวสดใส รสหวานมากครับ
และอีกชนิดคือ มันม่วงมุราซากิ ที่มีกลิ่นหอมเตะจมูกมาแต่ไกล
ทั้งเมล่อนและมันม่วง ที่ปลูกเอง ดูแลเอง และบางส่วนก็ซื้อจากสวนเกษตรกรในสวนผึ้ง ก่อนที่จะถูกรังสรรค์ให้เป็นเมนูขนมหวาน ไอศกรีม และเครื่องดื่ม ที่เป็นเอกลักษณ์ในราคาที่สามารถจับต้องได้ ถูกใจคนรักผลไม้อย่างผมเลย
==============
“สิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจร้านอาหาร คือ คุณต้องเข้าใจ 3 ขา นั่นคือ การเงิน, การตลาด และการบริหารจัดการ”
แต่ก่อนที่จะคุยถึงหลักคิด ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคุณพอท ถึงเลือกวัตถุดิบมาแค่ 2 ชนิด ทั้งๆที่ ฟาร์มของเค้าก็ปลูกผลไม้หลายชนิดที่น่าจะเอามาทำขนมได้เหมือนกัน
“อะไรที่เข้าใจยาก มันเข้าใจยากจริงๆ” “หน้าที่ของเรา คือต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจเราจริงๆ”
คุณพอท อธิบายเพิ่มเติมว่า เค้าต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้านขนมของเค้าครับ ภายใน 5-10 วินาที ถ้าลูกค้าเดินผ่านร้านของเค้า ลูกค้าต้องเข้าใจทันทีว่ากำลังขายอะไร หรือนำเสนอคุณค่าอะไรให้
“เดี๋ยวนี้ Noise มันเยอะ หมายความว่าคนทำธุรกิจเยอะ ถ้าธุรกิจเราไม่ชัด ก็จะไม่เป็นที่จดจำในสายตาลูกค้า” “สำหรับผม… ถ้าลูกค้าอยากกินเมล่อน หรือมันม่วง ต้องนึกถึงร้านของผมครับ”
อืม…. ผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆครับ
==============
มาลุยหลักคิด 3 ขากันทีละข้อกันครับ
1) การเงิน
“สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะทำร้านอาหารหรือขนมหวาน ต้องทำ feasibility ครับ” “ต้องประเมินให้ได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่แย่ที่สุด เราจะยังอยู่รอดไหม”
ข้อนี้ผมเห็นด้วยมากครับ เพราะชีวิตจริงทำร้านอาหารกว่าจะติดตลาด หลายร้านต้องใช้เวลาเป็นปี นั่นหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่เหมือนที่เราฝันไว้
ซ้ำร้าย เราอาจจะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ภัยพิบัติ, ความไม่สงบ, หรือแม้กระทั่งเราอาจจะเลือกทำเลที่ตั้งผิด ลูกค้าอาจจะไม่เข้าร้านของเรา
คำถามคือ เราจะยังอยู่รอดได้หรือไม่ มีแผนรองรับอย่างไร
“และที่สำคัญ เราต้องประเมินด้วยว่า ขนาดของตลาดนั้นที่เราสนใจนั้น ใหญ่พอกับความต้องการของเราหรือป่าว” คุณพอทให้ข้อคิดเพิ่มเติมครับ
หลายครั้งเราทำแทบตาย เราพัฒนาตัวเองสุดๆ แต่ถ้าตลาดเล็ก ความต้องการอาหารประเภทนี้ไม่มากพอ ก็จะไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ทุ่มเทให้นะครับ
==============
2. การตลาด
“ทุกสิ่งที่ผมพูด ทุกสิ่งที่ผมให้นิยาม ผมทำมันจริงๆ”
สิ่งที่คุณพอท อยากจะช่วยพี่น้องเกษตรกร ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เค้าก็ทำอย่างนั้นจริงๆครับ
โดยให้มองว่าร้านขนมของเค้า จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายสินค้าของเกษตรกร ไม่ต้องผ่านตัวกลางทำให้เกษตรกรได้รายรับไปเต็มๆ แถมไม่ต้องลุ้นว่าจะขายได้หรือไม่ เพราะยิ่งร้านของเค้าขายดีเท่าไหร่ เกษตรกรก็มีโอกาสขายของได้มากเท่านั้น
“และสิ่งที่สำคัญก่อนที่จะทุ่มเม็ดเงินทางการตลาด เราต้องรู้ก่อนว่า คนที่กินของแบบนี้เค้าอยุ่ไหน”
สำหรับ CORO Field Dessert ลูกค้าของเราคือ ครอบครัว, คู่รัก และแก๊งเพื่อน ทำให้เค้ามองว่าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสถานที่ที่ใช่ เพราะเป็นสถานที่รวมตัวกันของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเค้า
ถ้าเรารู้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน เราก็แค่หาเครื่องมือการตลาดที่จะทำให้เราไปอยู่ตรงนั้น เพื่อให้ลูกค้าได้มาทดลองทานขนมที่ร้านของเรา
==============
3. บริหารจัดการ
“การทำธุรกิจ ต้องอย่าลืมคำนึงถึงจุดคุ้มทุนหรือ Break even ต่อวันด้วย” คุณพอทเสริมว่า เราควรคำนวณต้นทุนให้รอบด้าน ต้องคิดให้หมด ทั้งค่าเช่า, ค่าวัตถุดิบ ค่าการตลาด ค่าพนักงาน
แล้วลองคำนวณต่อวันว่าเราต้องทำยอดขายให้ได้เท่าไหร่ถึงจะถึงจุดคุ้มทุน ให้เร็วที่สุดในแต่ละวัน
ตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่หลายคนทำไม่ได้ดี และมักจะเป็นจุดตายของธุรกิจร้านอาหารและขนมหวานคือ “ต้นทุน” ครับ
ต้นทุนอันไหนที่ลดได้ ก็ต้องลด ถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ นี่คือหลักคิดครับ
การที่คุณพอท เลือกเอาวัตถุดิบเพียงแค่สองชนิด คือ เมล่อน และมันม่วง นอกจากจะมีข้อดีด้านการตลาดแล้ว บริหารจัดการวัตถุดิบก็ง่าย และยังมีข้อดีด้านการบริหารจัดการต้นทุนด้วยครับ
“งานหลังบ้านจะง่ายขึ้นเยอะ ทั้งการขนส่ง หรือการที่ได้ Economy of scale ต้นทุนโดยรวมก็ยิ่งถูกลง”
“ผมควบคุมต้นทุนทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยอมไม่ได้คือ ต้นทุนวัตถุดิบ” คุณพอทจะรับซื้อเฉพาะวัตถุดิบที่มีคุณภาพเท่านั้น แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงก็ตาม
“เหตุผลคือ ทุกวันนี้ลูกค้าฉลาด ถ้าพบว่าวัตถุดิบไม่ดีก็จะมาแค่ครั้งเดียว ต่อให้เรามีการตลาดดีแค่ไหน บริหารจัดการดีเพียงใด” “แต่ถ้าสินค้าไม่ดีลูกค้าเค้าก็มาทานแค่ครั้งเดียว ไม่คุ้มครับ”
==============
ความเห็นของถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน
คุยกับคุณพอทแล้ว ทำให้ผมได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการทำร้านอาหารและร้านขนม
ผมว่าสิ่งที่จะปรุงให้ธุรกิจร้านอาหารและร้านขนมประสบความสำเร็จได้ นอกจากหลักการพื้นฐาน เช่น การทำตลาด หรือการคำนวณด้านตัวเลขแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ความฝัน”
ความฝันของศิลปินเกษตรอย่างคุณพอท คือทำให้ CORO Field เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ชีวิตเกษตรดีขึ้น
ความฝันนี้ทำให้ CORO Field มีภาพใหญ่ที่ต้องการเป็นเหมือน “เป้าหมาย” สิ่งที่ตามมาก็คือแนวทางการทำธุรกิจและภาพลักษณ์ที่ชัดเจน กลั่นมาออกเป็นหลักความคิดที่คุณพอทเล่าให้ผมฟังในวันนี้
แล้วคุณละครับ ความฝันของการทำร้านอาหารหรือร้านขนมของคุณคืออะไร?