วิเคราะห์เศรษฐกิจก้าวถัดไป กับปีหมู ที่ไม่หมู

1506

“มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ยังกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรม”

“ตอนนี้สถานการณ์คาดเดาได้ยากมากครับ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะทยอยลงทุน” 

 

อ.ธนวรรธน์ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในงานสัมมนา “เศรษฐกิจก้าวถัดไป นักลงทุนไทยพร้อมหรือยัง?” ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อลูกค้า KRUNGSRI PRIME ช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

 

เท่าที่ผมฟังดู อาจารย์ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตในปีนี้ (แต่เริ่มชะลอตัวลงบ้าง) โดยมีสงครามการค้าเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก ใครที่พลาดโอกาสไม่ต้องเสียใจครับ อ่านสรุปนี้ได้เลยครับ

 

==========

 

1. ทุกวันนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นรายนาที อยู่ในภาวะที่คาดการณ์อะไรไม่ได้อีกแล้ว

 

“วินาทีที่ผมลงจากเวทีปุ๊บ ถ้าทรัมป์ทวีตว่าจะขึ้นภาษี 3 แสนล้าน การวิเคราะห์ก็จะเปลี่ยนทันทีครับ” อ.ธนวรรธน์ อธิบายพร้อมกับยิ้มไปด้วย

 

“แล้วถ้าผมถอยกลับขึ้นไปบนเวที ปรากฏว่าทรัมป์บอกว่าจะคุยกับสี จิ้น ผิง การวิเคราะห์ก็จะเปลี่ยนเช่นกัน” เท่าที่สังเกตสีหน้าของผู้ฟัง ทุกคนพยักหน้า ก็คงจะเห็นด้วยกับคำพูดของอาจารย์ครับ เพราะเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้

 

โดยเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทำให้คนทั้งโลกงงไปตาม ๆ กัน คือกรณีที่ผู้นำสหรัฐอยู่ ๆ ก็ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้ง ๆ ที่ทีมเจรจายังนั่งคุยกันอยู่เลยครับ ทำให้ตลาดหุ้นทั้งโลกถูกเท เศรษฐกิจเองก็อยู่ในภาวะที่คาดการณ์อะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้วครับ

 

============

 

2. คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากที่สุดคือชาวอเมริกัน

 

อ.ธนวรรธน์ เล่าให้ฟังต่อว่า คนที่เจ็บตัวจากความขัดแย้งทางการค้ารอบนี้ คือ เกษตรกรชาวอเมริกันครับ “ยกตัวอย่าง เช่น ตัวเลขส่งออกถั่วเหลืองจากสหรัฐไปยังจีนต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี” 

 

แต่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน คือผู้ประกอบการ SMEs เพราะราคาสินค้าวัตถุดิบจะมีราคาสูงขึ้น “ตอนนี้สหรัฐเก็บภาษีจีนแทบจะทุกประเภทเลยครับ เช่น สินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภค เจอภาษีทั้งแผง”

 

ในทางตรงกันข้าม อาจารย์มองว่า จีนเองอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากเท่ากับสหรัฐ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้จีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศอันดับที่ 1 ของโลก เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

“นอกจากนี้ยังมีหนี้สาธารณะเพียง 40% ของ GDP และมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 4% และมีโอกาสลดลงได้อีก ถ้าสงครามการค้าลากยาว คนที่จะชนะคือจีน” อาจารย์ฟันธงในช่วงแรกครับ

 

============

 

3. สำหรับจีน ตอนนี้ศัตรูของศัตรู ก็คือมิตรของเรา

 

“ยุโรปก็พึ่งจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ แคนาดา และเม็กซิโกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” 

 

อ.ธนวรรธน์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เราเห็นคือจีนรีบไปจับมือเจรจาการค้ากับประเทศเหล่านั้น ผูกมิตร และหาทางทำธุรกิจร่วมกัน

 

“เหตุการณ์ในครั้งนี้เราไม่รู้เลยว่า เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้ชายสองคน คือ คุณสี และคุณทรัมป์” อาจารย์แนะนำให้ติดตามการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ที่ผู้นำทั้งสองประเทศมหาอำนาจจะมาพบปะหารือกันครับ

 

============

 

4. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแต่ยังกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรม

 

“ประเทศไทยยังมีจุดแข็งมากมาย ทั้งด้านทำเล คนไทยก็เป็นมิตร เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก” “ตัวเลขต่าง ๆ ก็บอกว่าจริง ๆ แล้วคนไทยมีกำลังซื้อแต่ไม่กล้าใช้จ่ายเท่านั้น”

 

อ.ธนวรรธน์ตั้งข้อสังเกตว่าทุกวันนี้ประเทศไทยเจอความไม่แน่นอนหลายอย่าง ทั้งพืชผลการเกษตรตกต่ำ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

 

“ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจจะเห็นว่าเติบโต 3.5% และเงินเฟ้อเองก็เพิ่มขึ้น 1% เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตด้วย demand จริง ๆ”

 

อาจารย์มั่นใจว่า แม้จะมีความท้าทายหลายอย่างรอเราอยู่ แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้แบบอ่อน ๆ แต่ยังกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น 

 

============

 

5. อัตราดอกเบี้ยคือตัวแปรที่สำคัญ

 

“(ธนาคารแห่งประเทศ)ไทยเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง หลังจากที่ต่ำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา” อาจารย์ธนวรรธน์อธิบายว่าเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจไทยฟื้น

 

“แต่ตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย(เพิ่มเติม) เพราะกลัวเศรษฐกิจทรุด” 

 

อาจารย์เล่าต่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนำไปก่อนหน้านี้แล้ว  ในขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นยังใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

 

อัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญมากครับ ทั้งในด้านต้นทุนในการกู้ยืมเงิน และยังมีผลต่อการโยกย้ายเงินทุนเข้าออกในแต่ละประเทศ จึงจำเป็นต้องติดตามแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยให้ดี

 

============

 

6. ส่งออกเริ่มเหนื่อย เพราะค่าเงินบาทไทยแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 

“ถ้าดูกราฟค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2561 จะเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น” นั่นเลยเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมผู้ส่งออกหลายรายถึงเหนื่อยมาก

 

อาจารย์ธนวรรธน์ แนะนำให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ให้ซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ล็อคต้นทุนค่าเงินเอาไว้ จะได้ไม่ต้องกังวลทิศทางค่าเงินที่มีความผันผวน (ซึ่งน่าจะผันผวนมากขึ้นอีก เมื่อพี่ทรัมป์เองก็ทวีตถี่ซะเหลือเกิน)

 

แต่อย่าลืมนะครับว่า “อย่าเอากำไรจากค่าเงิน แต่เอากำไรจากการขาย” 

 

============

 

7. เศรษฐกิจไทยยังไม่แย่แต่ยังวางใจไม่ได้

 

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมักจะได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยต่างประเทศ” นั่นเป็นเพราะว่าตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาตลาดต่างประเทศเยอะ

 

“เพราะฉะนั้น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างทรัมป์และสี จิ้นผิง ถ้ายังคุยไม่จบจนกลายเป็นวิกฤต ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

 

ความเห็นของอาจารย์ ตอนนี้ยังไม่มีวิกฤติครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดวิกฤติ ก็ขอให้คนไทยเตรียมตั้งรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเอาไว้

 

อาจารย์ธนวรรธน์แนะนำว่า ตอนนี้ธุรกิจส่งออกไม่ค่อยดี แต่ธุรกิจในประเทศยังพอไปได้ เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่รายได้เกษตรกรติดลบเยอะเลย

 

============

 

8. เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนรออยู่

 

“ก่อนหน้านี้ ผมยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดี แต่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจ เพราะเรามีปัจจัยความไม่แน่นอนจากทรัมป์”

 

อาจารย์ธนวรรธน์เองมองว่า ไม่มีใครเชื่อว่าทรัมป์จะหักดิบได้ขนาดนี้ นั่นหมายความว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจะมากขึ้น หรือลดลงในอนาคต ก็ไม่มีใครตอบได้

 

แต่สิ่งที่มั่นใจได้คือ ชนชั้นกลางจะเป็นอีกหนึ่งความหวังของเศรษฐกิจไทย “ท่านจะเห็นคอนโด และ community mall ในต่างจังหวัดมากขึ้น และนั่นคือโอกาสในการทำธุรกิจทั้งนั้น”

 

และยังมั่นใจว่าโอกาสในการลงทุนยังมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพียงแต่ควรหาผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการลงทุน

 

============

 

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน ลงทุนมีความสุขครับ นี่คือ ถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน

TAM-EIG

TAM-EIG

1506

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!